HoonSmart.com>> บล.โกลเบล็ก มองหลังคลาย Lockdown หนุนท่องเที่ยวฟื้นตัว ผู้ประกอบการแห่ออกแพ็กเกจกระตุ้นเที่ยวในประเทศ แนะจับตา 5 หุ้น ERW-CENTEL- AOT-AAV-BA รับอานิสงส์ พร้อมประเมิน SET แกว่งตัวกรอบ 1,430-1,475 จุด ขานรับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น กลุ่มโอเปกพลัสบรรลุข้อตกลงขยายเวลาลดการผลิตต่ออีก 1 เดือน ถึงก.ค.นี้หนุนราคาน้ำมัน
ด้านบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด ประเมินทิศทางการลงทุนในขณะนี้ว่า หลังจากที่มีการคลาย lockdown เฟส 3 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาคการลงทุนเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่ส่อแววจะเริ่มกลับมาคึกคัก โดยจะเห็นเหล่าบรรดาผู้ประกอบการทยอยออกแพ็กเกจท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้คนกลับมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น หลังจากประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 จนทำให้ธุรกิจเกิดการชะลอตัวตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม2563ที่ผ่านมา ดังนั้นฝ่ายวิจัย มองว่าหุ้นในกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์ต่อกรณีดังกล่าวคงหนีไม่พ้นกลุ่มท่องเที่ยว
บล.โกลเบล็ก จึงคัด 5 หุ้นที่น่าจับตา ได้แก่ ERW, CENTEL, AOT, AAV และ BA ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการออกแพ็กเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้ ยังได้มองว่า ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ จะมีหุ้นที่จะได้เข้าคำนวณดัชนี FTSE SET Large Cap Index รอบใหม่ อย่าง CRC และ DIF เข้ามาสร้างสีสัน
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนในลักษณะ Sideway Up โดยมองกรอบดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,430-1,475 จุดโดยแรงหนุนจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตำแหน่ง สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดไว้ว่าการจ้างงานอาจลดลง 8.33 ล้านตำแหน่ง ประกอบกับกลุ่มโอเปกพลัสบรรลุข้อตกลงขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไปอีก 1 เดือนจนถึงปลายเดือนก.ค. ประกอบกับหลายประเทศทยอยผ่อนคลาย lockdown ทำให้อุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งหนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานฟื้นตัว
อย่างไรก็ตามจากระดับ Valuation ของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างแพง โดยในปัจจุบันมีการซื้อขายที่ระดับ P/E 20 เท่า ซึ่งสูงสุดในภูมิภาค จึงเป็นสาเหตุทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน และหันไปลงทุนประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบจากปลายไตรมาส 1/2563 ส่งผลลบต่อการส่งออกและหากยังแข็งค่าต่อเนื่องกังวลว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเข้าแทรกแซงในการดูแลค่าเงินบาทเพื่อป้องการการส่งออกหดตัว
นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตาอียูเปิดเผย GDP ไตรมาส 1(ประมาณการครั้งสุดท้าย) รวมทั้งการเปิดเผยความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนพ.ค. สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนเม.ย.ของสหรัฐ และวันที่ 10 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) และจีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค.ส่วนสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (เช้าวันที่ 11 มิ.ย.)
ขณะเดียวกันในวันที่ 11 มิ.ย. สหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค. และวันที่ 12 มิ.ย. ญี่ปุ่นเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. รวมทั้งอียูเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และสหรัฐเปิดเผยราคานำเข้าและส่งออกเดือนพ.ค. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.
สำหรับราคาทองคำในสัปดาห์นี้ยังคงผันผวนในกรอบ 1,670-1,715 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือ 24,910-25,640 บาทต่อบาททองคำ โดยเล่นเก็งกำไรในกรอบดังกล่าว แต่หากหลุดแนวรับที่ 1,670 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ให้ขายออกทันที