ทำไม GPSC ต้องซื้อ GLOW 1.4 แสนล้าน?

นักลงทุนกำลังสับสนว่าจะลงทุนในหุ้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่หรือ GPSC ดีหรือไม่

และเกิดคำถามว่า ” GPSC” ตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาทในการซื้อกิจการ บริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่

นักลงทุนส่วนหนึ่งอาจจะมีคำตอบว่า”ไม่คุ้ม “เพราะให้ราคา”แพงเกินไป”

การเคาะราคาซื้อหุ้นละ 96.50 บาท ให้พรีเมี่ยมสูงถึง 16 % เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่เคลื่อนไหวบริเวณ 83 บาท ก่อนที่หุ้นจะวิ่งขึ้นแรง เพราะข่าวการเจรจาซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่รั่วออกมาก่อน ทำให้เกิดการเก็งกำไรในวงกว้าง

แต่การจะตัดสินใจว่า การซื้อกิจการ ” ถูกหรือแพง” จะต้องมองผลประโยชน์หรือผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในระยะยาวมากกว่า การประเมินราคาซื้อขายหุ้นในขณะนี้

“ดีลนี้” ถือว่าจะสร้างความคุ้มค่าต่อกลุ่มปตท. เป็นอย่างมาก และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ ของการสร้างฐานธุรกิจไฟฟ้าของเครือปตท.

เมื่อพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนโยบายทางด้านพลังงานของรัฐบาลแล้วจะเห็นว่า ธุรกิจของ GPSC คงไม่สามารถเติบโตก้าวกระโดดต่อไปได้อีกแล้ว หากไม่ปรับโมเดลในการทำธุรกิจใหม่

บริษัทต้องเร่งหาทางออกในการสร้างรายได้และกำไรในระยะยาว จะพึ่งพากำลังการผลิตและการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ ไม่ดีแน่

แต่การหาใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า ที่มีกำลังการผลิตสูงๆ และเงื่อนไขดีๆ ได้ง่ายอีกแล้ว แนวโน้มการรับซื้อไฟมีแต่จะลดลงไปเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา ราคาหุ้น GPSC วิ่งฉิวอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีนี้ จากที่เคลื่อนไหวบริเวณ 30-35 บาท พุ่งพรวดไปสูงสุด 87.50 บาท ส่วนหนึ่งเกิดจากหุ้นโรงไฟฟ้าทางเลือกร้อนแรงมากกว่าตลาดหุ้นโดยรวมที่ขึ้นไปสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ GPSCยังมีประเด็นเด็ด อยู่ที่บริษัทประกาศจะทุ่มทุนลงทุนโครงการใหญ่”แบตเตอรี่ ” ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยบริษัทฯถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 18.6% ในบริษัท 24M Technologies Inc.ที่มีการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อใช้ในระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม และระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้า

โครงการน่าสนใจ แต่คนในวงการแบตเตอรี่เชื่อว่า”เป็นไปยาก” และใช่ว่าจะสำเร็จง่ายๆ เพราะองค์ประกอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีเงินลงทุนหรือไม่

หัวใจสำคัญของโครงการ”แบตเตอรี่” อยู่ที่ “ลิเธียม ไอออน” ทั่วโลกมีผู้ผลิตได้เพียงไม่กี่เจ้า และขณะนี้รับออเดอร์เต็มแล้ว ใครอยากได้จะต้องรอไปอีกหลายปี ทำให้ ราคาลิเธียม สูงขึ้นถึง 3 เท่าเป็น 20,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน

เชื่อว่า GPSC มาถึงทางตันในการขยายธุรกิจ”แบตเตอรี่” ก็ต้องหันกลับไปมองธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกครั้ง แต่คงจะเคลื่อนไหวแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว การออกไปลงทุนซื้อโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น หรือซื้อโครงการที่มีใบอนุญาตในประเทศไทยแล้วคงจะไม่คุ้มค่าสำหรับการลงทุนและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ผู้บริหารรวมถึงที่ปรึกษา คิดโมเดลธุรกิจนี้ออกมาได้ ถือว่าสุดยอด ดีลเทกโอเวอร์ GLOW เป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะการได้กำลังการผลิตของ GLOW ที่มีมากกว่ามารวมกับ GPSC สามารถไต่อันดับขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจไฟฟ้าทันที สร้างความผิดหวังให้บริษัทบางแห่งที่ประกาศตัวว่าจะยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมนี้ และ GLOW มีจุดแข็งเรื่องการเติบโตของกำไรและความสามารถในการจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหุ้นถือลงทุนระยะยาวได้อย่างสบายใจ เพื่อรอรับอัตราผลตอบแทนปันผลสูง6-7%ต่อเนื่องมาหลายปี

หากกลุ่มปตท.ไม่ลุกขึ้นมาตัดสินใจลงทุนครั้งมโหฬารนี้ ธุรกิจที่วิ่งเร็วต่อไปไม่ได้ มิใช่ว่าจะกระทบเฉพาะ GPSC เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงบริษัทในกลุ่มปตท.หลายแห่ง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย นำโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ถือหุ้น 340 ล้านหุ้น สัดส่วน 22.73% ตามด้วย บริษัท ปตท. (PTT)ถือ 338 ล้านหุ้น หรือ 22.58% บริษัท ไทยออยล์เพาเวอร์ ถือ 311 ล้านหุ้น หรือ 20.79% และบริษัท ไทยออยล์ (TOP)ถือ 133 ล้านหุ้นหรือ 8.91%

ความยิ่งใหญ่อย่างรวดเร็วของ GPSC ที่เกิดขึ้นจากการซื้อกิจการ GLOW ไม่ว่าจะเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กำไรสุทธิในแต่ละปีมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันทำได้ประมาณ 3,000 ล้านบาทเท่านั้น รวมถึงมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)จาก1 แสนล้านบาท เพิ่มเป็นประมาณ 2.47 แสนล้านบาท จะเพิ่มอำนาจต่อรองและแรงดึงดูดของนักลงทุนสถาบันไทยและต่างประเทศอย่างแน่นอน

GPSC ได้ 6 ประโยชน์
1 เติบโตก้าวกระโดด กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5เท่า จาก 1,940 เป็น 4,835เมกะวัตต์
2 เพิ่มศักยภาพการเงินแลฐานกระแสเงินสด สร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน
3 เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและโอกาสลงทุนโครงการใหญ่ขึ้น กำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
4. เพิ่มคุณภาพบริการลูกค้าอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น
5. ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ลดการลงทุนใหม่ที่ซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง ลดต้นทุนอะไหล่
6. รองรับและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกลุ่มปตท. ในการเติบโตภายใต้ EEC

มุมมองนักวิเคราะห์ต่อ GPSC
บล.เอเซียพลัส แนะนำ “switch” ราคาเป้าหมาย 64 บาท มูลค่าเพิ่มไม่มีนัยสำคัญมากนัก
1.GLOW มีกำไรสุทธิ 8,000-9,000 ล้านบาท/ปี
2.GLOWไม่มีโครงการใหม่
3.บริษัทมีดี/อีเพิ่มเกือบ 3 เท่าจากเดิม 0.5เท่า
4.ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ค่อนข้างสูงมาก

บล.ทรีนีตี้ มองให้ราคาซื้อค่อนข้างเหมาะสม GLOW มีจุดเด่น
1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 15,000-16,000 ล้านบาท/ปีหรือ10บาท/หุ้น ต่อปี เทียบเท่า ราคา/กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ประมาณ 9.6 เท่า
2.มีเงินสดในมือประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 6.6 บาท/หุ้น
3. จ่ายเงินปันผลประมาณ 5.60บาท/หุ้นในช่วง3ปีที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนประมาณ 5.8% ในขณะที่ต้นทุนเงินกู้ของGPSC น่าจะอยู่ที่ 3-4%