ความจริงความคิด : ชัดซะที อะไรคือ ที่อยู่อาศัย อะไรคือ เกษตร

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

คงจำกันได้นะครับว่าปลายปีที่ผ่านมามีเรื่องวุ่นๆกันมากเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกที่มีกำหนดการบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 แม้ว่าทางรัฐบาลจะประกาศเลื่อนการเสียภาษีจากเดือนเมษายนไปเป็นสิงหาคม แต่ไม่ได้เลื่อนการประเมินจากข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2563

และที่ทำให้วุ่นกันมาก ก็คือกรณีคนที่ได้รับหนังสือแบบแจ้งข้อมูลรายการว่าตึก บ้าน คอนโดที่ตนเองเป็นเจ้าของ ถูกประเมินเป็น “อื่นๆ” หมด ภาระภาษีอยู่ที่ 0.3% หรือ ล้านละ 3,000 บาท ทั้งที่ ถ้าถูกประเมินเป็น “บ้านหลังอื่น” ภาระภาษีอยู่ที่ 0.02% หรือ ล้านละ 200 บาท ถูกกว่าถึง 15 เท่า

หลายคนที่ซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่เองเป็นหลังอื่นๆ (อาจมีหลายคนที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่า) ก็เลยต้องไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเป็นกรุงเทพฯ ก็ที่สำนักงานเขตเพื่อแก้ไขข้อมูล หลายคนก็ใช้วิธีแก้ไขผ่าน QR code ที่พิมพ์อยู่หลังใบแจ้งข้อมูลรายการห้องชุด วุ่นกันไปหมด จนสุดท้ายกระทรวงการคลังต้องออกมาประกาศว่าห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม จะเสียภาษีในอัตราเดียวกันกับที่อยู่อาศัย แม้ห้องชุดดังกล่าวจะนำไปให้เช่าต่อก็ตาม ความวุ่นวายจึงสงบลง

แต่ก็ยังเป็นปัญหากับคนที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ต้องเสียภาษีแพงเริ่มในอัตรา 0.3% เช่นกัน ทำยังไงดีถึงจะเสียภาษีน้อย ที่ฮือฮาก็คือ กรณีที่ดินเปล่าใจกลางกรุงเทพขนาด 24 ไร่ ติดสถานีรถไฟฟ้าศูนย์วัฒนธรรม มูลค่าเฉียด 1 หมื่นล้านบาท ได้มีการปลูกต้นมะนาวร่วม 4,000 ต้น เพื่อต้องการจะเสียภาษีในประเภทเกษตรกรรม

ตามกฎหมายใหม่ หากที่ดินมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท จะเสียภาษีที่ 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท ที่ 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท 0.07% และมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 0.1% ถูกกว่ากรณีเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ฐานภาษีเริ่มต้นที่ 0.3% มากมาย และกระทรวงการคลังเองก็ยอมรับว่ากรณี ‘ปลูกมะนาวรัชดา’ กฎหมายเปิดช่องทางให้นักธุรกิจสามารถแปลงสภาพที่รกร้างเป็นที่ดินทางการเกษตรได้ โดยไม่ถือเป็นการหลบเลี่ยงภาษี

เมื่อมีกรณีตัวอย่างอย่างนี้เกิดขึ้น พวกเศรษฐีที่ดินก็เริ่มหายใจทั่วท้อง แต่จะทำเกษตรเลยก็ลังเล รอกฎหมายที่ระบุชัดๆเลยว่า ที่แบบไหนคือ ที่เกษตร ที่แบบไหน คือ ที่อยู่อาศัย ในที่สุดกฎหมายก็ออกมาแล้วครับ

ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

ตามกฎหมายการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย หมายถึง การใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอยู่อาศัย รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้ประโยชน์ต่อเนื่องด้วย หมายความรวมถึงช่วงเวลาระหว่าง การก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอยู่อาศัยด้วย แต่ไม่รวม

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ให้บริการเป็นที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใด โดยคิดค่าตอบแทน เช่น เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ห้องพักรายวัน ฯลฯ ไม่รวมกรณีที่คิดค่าตอบแทนเป็นรายเดือนขึ้นไป อย่างเช่น คอนโดที่ซื้อแล้วปล่อยเช่ากันเป็นปี หรือโฮมสเตย์

หมายเหตุ : “โฮมสเตย์” หมายถึง สถานที่พักชั่วคราวที่เจ้าของนำพื้นที่ใช้สอยภายในมาดัดแปลง เป็นห้องพักซึ่งมีจำนวนไม่เกินสี่ห้อง มีผู้พักรวมกันไม่เกินยี่สิบคน จัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวก ตามสมควร และเป็นการพักรวมกับเจ้าของในชายคาเดียวกัน อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการ เพื่อหารายได้เสริม ดังนั้นแปลว่าจะถือเป็นโฮมสเตย์ได้ เจ้าของต้องเป็นบุคคลธรรมดา

แปลง่ายๆ จะเข้าหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ต้องเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง บ้านหลังอื่นที่เป็นเจ้าของจะให้ญาติพี่น้องอยู่ หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยแบบรายเดือน (เช่น บ้านเช่า อพาร์ทเม้นท์ หอพัก คอนโด เป็นต้น) และโฮมสเตย์ ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย สรุปคนที่จะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย

ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม

การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้หมายถึง การใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงที่ดินหรือ สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่อเนื่องที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมนั้นด้วย ทั้งนี้ พื้นที่ต่อเนื่องตามวรรคสอง ต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบ เกษตรกรรม

ส่วนอะไรคือ “ประกอบการเกษตร” ก็ใช้ตามความหมายของคำว่า “ประกอบการเกษตร” ในระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนา การเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560 ซึ่งหมายถึง การปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้า การทำนาเกลือสมุทร การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และเกษตรอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจำหน่ายหรือใช้งานในฟาร์ม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน

ส่วนเงื่อนไขที่หลายคนรอคอยเลย ก็คือ ถ้าจะปลูกกล้วย ปลูกมะนาว ทำได้ป่าว ถ้าทำได้ต้องปลูกกี่ต้น ตรงนี้หายห่วงครับ กฎหมายนี้มีคำตอบให้ ในบัญชีแนบท้ายประกาศฉบับนี้มีกำหนดอัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ อัตราพื้นที่คอกหรือโรงเรือน อัตราการใช้ที่ดิน อย่างเช่น ถ้าจะปลูกกล้วยต้องไม่ต่ำกว่า 200 ต้นต่อไร่ และต้องมีเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป (ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วย การขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560) เป็นต้น สำหรับระยะเวลาในการประกอบเกษตรกรรมให้รวมถึงช่วงเวลาพักการเกษตร เพื่อฟื้นฟูสภาพที่ดิน หรือการพักที่ดินระหว่างฤดูกาลผลิต หรือการตัดวงจรโรคด้วย แล้วเจ้าของที่เกษตรต้องเป็นเกษตรกรรึป่าว ไม่จำเป็นครับ จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ และไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร

ข่าวดีส่งท้าย covid คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 ในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19..เย้