โค้งสุดท้าย กับการลงทุนในกองทุนรวม “SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน”

โดย…สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของ กองทุน “SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” กันแล้ว เหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 วันกับโอกาสที่จะลงทุนในกองทุนที่มีเงื่อนไขพิเศษตามมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีสิทธิลดหย่อนภาษี ผู้ที่ต้องการออมระยะยาวในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพเติบโตอย่างหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้โดยตรง จะมีเวลาตัดสินใจจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นี้เท่านั้น

สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจจะลงทุน ลองมาสำรวจตัวเองก่อนว่า SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน เป็นกองทุนที่ใช่สำหรับคุณหรือไม่

ขั้นตอนที่ 1 สำรวจเป้าหมายการลงทุน หากคุณกำลังมองหา

– การลงทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม จากวงเงินที่ได้รับจากกองทุน SSF ปกติ การลงทุนใน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน เป็นอีกทางเลือกที่จะเพิ่มวงเงินลงทุนที่นำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้สูงสุดถึง 200,000 บาท ซึ่งเป็นคนละวงเงินกับ SSF ปกติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเกษียณ และประกันบำนาญ

– การลงทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงิน ผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนใน SET หรือ mai ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีทส์) กองทุนอีทีเอฟ (ETF) หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยสัดส่วนการลงทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ละแห่งจะออกแบบกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์ลงทุนต่างกันไป เช่น เน้นหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแกร่ง เน้นหุ้นกลาง-เล็ก ลงทุนตามดัชนี โดยคุณสามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายตรงกับเป้าหมายของคุณได้

– การลงทุนที่เตรียมไว้ใช้ยามเกษียณ ยิ่งเริ่มต้นเร็วจะยิ่งได้เปรียบ จากข้อมูลในอดีตพบว่าการลงทุนระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งการลงทุนใน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน มีระยะเวลา 10 ปี ก็เป็นเวลาที่นานพอจะเห็นแนวโน้มของการเติบโตในระยะยาวได้ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาความเสี่ยงร่วมด้วย

ขั้นตอนที่ 2 เลือกกองทุนที่จะลงทุน

ถ้าเป้าหมายการลงทุนของคุณมีครบตามขั้นตอนที่ 1 ข้างต้น กองทุน “SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” ก็เป็นอีกทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ และ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2563 มีกองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียนให้เลือกลงทุนถึง 18 กองทุน จาก บลจ. 14 แห่ง ซึ่งการเลือกกองทุนให้เหมาะกับตัวเอง สามารถทำได้โดยศึกษาหนังสือชี้ชวน (fund factsheet) อย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

1.ดูนโยบายลงทุนของกองทุน ว่าลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดบ้าง (ซึ่งอย่างน้อย 65% จะลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน ส่วนที่เหลือ บลจ. สามารถนำไปลงตราสารอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น)

2.ราคาหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมีความผันผวนเพียงใด โดยดูจากความผันผวนของผลการดำเนินงานในอดีต กลุ่มหุ้นที่เน้นลงทุน เช่น ลงทุนในหุ้นบริษัททั่วไป บริษัทขนาดเล็ก-กลาง บริษัทขนาดใหญ่ หรือลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม และมีการกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือไม่

3.ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม คือ จะอยู่ในระดับ 5 ขึ้นไป ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง

4.ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนที่คุณจะได้รับ โดยค่าธรรมเนียมหลักที่ควรพิจารณา คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวม ซึ่งหากเป็นการลงทุนที่ล้อไปกับดัชนี (ลงทุนแบบ passive) ค่าธรรมเนียมก็ควรต่ำกว่าการลงทุนแบบ active ที่ผู้จัดการกองทุนจะต้องใช้ฝีมือในการบริหาร

5.อื่น ๆ เช่น กองทุนมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลหรือไม่ เงื่อนไขการสับเปลี่ยนกองทุนมีหรือไม่
เงินลงทุนขั้นต่ำจำนวนเท่าใด

ขั้นตอนที่ 3 ตัดสินใจลงทุน

เนื่องจากเป็นกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ถือให้ครบ 10 ปี ถ้าซื้อเกินสิทธิที่จะได้รับลดหย่อน (คือ เกิน 200,000 บาท) ส่วนที่เกินก็ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้

หากเตรียมตัวให้พร้อมทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว ก็พร้อมที่จะลงทุนได้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บลจ. ที่เสนอขายกองทุนดังกล่าว หรือสอบถามมายังสำนักงาน ก.ล.ต. โทรศัพท์ 1207 กด 7