ก.ล.ต.เชิญกรมบังคับคดีให้ความรู้ “การฟื้นฟูกิจการ” สร้างความเข้าใจผู้ลงทุน

HoonSmart.com>> ก.ล.ต. จัดการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “การฟื้นฟูกิจการ” โดยเชิญวิทยากรจากกรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ตามข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระหว่างสองหน่วยงานเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานในการบังคับใช้กฎหมาย มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์กว่า 260 ราย การบรรยายชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างสำคัญระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการและการล้มละลาย รวมถึงเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการที่ถูกต้อง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดตราสารหนี้ได้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการสร้างความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะขั้นตอนการขอรับชำระหนี้ของผู้ถือตราสารหนี้ซึ่งมีจำนวนมากและมีความหลากหลาย ก.ล.ต. จึงได้เรียนเชิญวิทยากรจากกรมบังคับคดีซึ่งเป็นผู้ที่รู้จริงมาชี้แจงในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อสร้างความรู้เข้าใจในวัตถุประสงค์และกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้อย่างดีขึ้น และสามารถนำไปชี้แจงและถ่ายทอดแก่ผู้ลงทุน รวมถึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการเพื่อรักษาสิทธิแก่ผู้ลงทุนได้อย่างเต็มที่และถูกต้องตามขั้นตอนและ ก.ล.ต. รับประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนมากที่สุด

วิทยากรจากกรมบังคับคดีได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างกระบวนการล้มละลายและกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหากลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายจะถือว่ากิจการหยุดดำเนินการแล้ว ลูกหนี้จะไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สิน โดยจะเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่สำหรับกระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้กิจการยังดำเนินต่อได้ คงการจ้างงานให้มากที่สุด ที่สำคัญเจ้าหนี้มีโอกาสได้รับการชำระหนี้มากกว่า เมื่อเทียบกับกรณีลูกหนี้ล้มละลาย อย่างไรก็ดี อาจมีบางส่วนที่ต้องลดหรือหายไปเพื่อคงมูลค่าส่วนใหญ่ไว้มากที่สุด

กรณีบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย โดยศาลล้มละลายกลางได้รับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 นั้น มีกระบวนการต่อไปคือ ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยหากคดีไม่มีการคัดค้านศาลอาจจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนได้ หลังจากนั้นเจ้าหนี้จะสามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน ซึ่งในการยื่นคำขอรับชำระหนี้นี้หากเจ้าหนี้มีการถือหุ้นกู้หลายรุ่น สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นคำขอฉบับเดียวได้โดยให้ระบุรายละเอียดหุ้นกู้แต่ละรุ่น และสามารถมอบอำนาจให้ตัวกลาง ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แทนได้ กรณีที่มีตัวกลางผู้จัดจำหน่ายหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้หลายแห่งอาจให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ไปหารือเพื่อตกลงกันว่าจะให้ผู้ใดเป็นคนยื่นคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้

การบรรยายความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการโดยวิทยากรจากกรมบังคับคดีในครั้งนี้ มีผู้ให้ความสนใจจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น คณะกรรมการกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กรมส่งเสริมสหกรณ์ ตลอดจนธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุน