โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 6) : ผลกระทบของอุตสาหกรรมการศึกษา

ดร. กฤษฎา เสกตระกูล

โดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Credit : weforum.org brooking.edu

“โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 6) สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของอุตสาหกรรมการศึกษาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนโอกาสในการปรับตัวของอุตสาหกรรมการศึกษาหลังยุค Covid-19 จากบทความ “The COVID-19 pandemic has changed education forever. This is how” และ“Top 10 risks and opportunities for education in the face of COVID-19.”

วิกฤติ Covid-19 ส่งผลกระทบรุนแรงในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการศึกษา ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของโลกมนุษย์เราในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในระหว่างการระบาดของโลก สถานศึกษา เช่น โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เป็นต้น ได้ถูกสั่งปิดเนื่องจากเป็นสถานที่รวมกันของนักเรียน นิสิตนักศึกษาที่เป็นเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อไปของชาติ ได้รับการดูแลให้ปลอดภัยซึ่งเป็นความห่วงใยในระดับต้น ๆ ของผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษาและภาครัฐ มีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีนักเรียนนักศึกษากว่า 1,200 ล้านคนต้องหยุดเรียนอยู่บ้าน และหากต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ผู้เกี่ยวข้องก็เริ่มเป็นห่วงกับการหามาตรการให้การเรียนการสอนในยุค Social / Physical distancing ที่ยังคงอยู่ การปรับตัวแบบ Online learning ถูกเร่งให้นำมาใช้เป็นอย่างมาก ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต้องพิจารณากันต่อไป

บทความ “The COVID-19 pandemic has changed education forever. This is how” ของ Cathy Li และ Farah Lalani จาก The world Economic Forum COVID Action Platform วันที่ 29 เมษายน 2563 ได้ให้ข้อมูลประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้

การเติบโตของ Edtech (Education technology) ขยายตัวอย่างมากจากมูลค่า 18.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 และในอนาคตเราจะพบการพัฒนาเครื่องมือและเนื้อหาของการเรียนแบบ online ที่มีความหลากหลายและก้าวหน้ามากขึ้น เช่น Language apps, Virtual tutoring, Video Conferencing หรือ Online software เป็นต้น

จะมีความต้องการบริการ Online learning platform ทั้งในลักษณะที่สถาบันการศึกษาพัฒนาขึ้นเอง หรือมีผู้พัฒนาระบบเพื่อให้ใช้ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิด Startups กลุ่ม Highly valued edtech companies เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการใช้บริการการเรียนทางไกลดังกล่าว

การเคลื่อนตัวเพื่อใช้เรื่อง Online learning แม้จะมีอัตราเร่งที่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องยังคุ้นเคยกับการเรียนการสอนในระบบเดิม ซึ่งหากออกมาโดยไม่ทำความเข้าใจ หรือไม่มีการอบรมการใช้งานก็จะทำให้ไม่ได้รับประสิทธิภาพและประสิทธิผลตลอดจนไม่คุ้มค่าในการลงทุน

การเข้าถึงการเรียนการสอนแบบ Online learning ผู้เรียนและผู้สอนจะต้องมีอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำที่นักเรียนนักศึกษามาจากครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถมีอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายที่ทำให้เข้าถึงได้ รวมถึงข้อวิจารณ์อื่นๆ เช่น สมาธิผู้เรียนที่อาจมีความจำกัด การขาดผู้ควบคุมดูแลขณะที่เรียนที่บ้านเพราะผู้ปกครองก็มีภาระไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา หรือการมีเนื้อหาที่เหมาะสมไม่เพียงพอ ครูและอาจารย์ก็ยังใหม่ต่อเรื่องนี้

บทความ “Top 10 risks and opportunities for education in the face of COVID-19.” โดย Robecca Winthrop ที่ลงใน brooking.edu วันที่ 10 เมษายน 2563 สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโอกาสในการปรับตัวของอุตสาหกรรมการศึกษาหลังยุค Covid-19 ไว้ดังนี้

1. การจัดการเรียนแบบผสมผสานระหว่างในห้องเรียนจริงกับการเรียนทางไกลจะได้รับความนิยมมากขึ้น (Blended learning approaches will be tried, tested and increasingly used)
แม้ว่าคนจะคุ้นเคยกับการเรียนแบบ Face-to-face learning มาโดยตลอด แต่ในอนาคตคนจะยอมรับได้กับการเรียนการสอนแบบ Blended learning โดยไม่ต้องเจอตัวคนเรียนคนสอนแบบเป็นๆ ต่อหน้าทั้ง 100% ของทั้งรายวิชา แต่ยังคงได้ Learning experiences ที่ดีกว่าเดิม ทั้งคนสอนและคนเรียนจะปรับตัวไปตามเทคโนโลยีการศึกษาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แบบยอมรับโดยไม่ต่อต้านมากนัก

2. วิชาชีพครู (หากปรับตัวได้) จะได้รับการยกย่องมากขึ้น (Teachers and school will receive more respect, appreciation and support for their important role in society)
โดยปกติคุณครูจะได้รับการยกย่องอยู่แล้วว่าเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่ 2 ของนักเรียน ช่วยกล่อมเกลาให้ความรู้เพื่อให้เยาวชนของเราเป็นทั้งพลเมืองที่ดีและเก่ง ซึ่งเป็นที่มาว่าเราไม่ควรยกเลิกการเรียนแบบ Face-to-face learning ยิ่งถ้าโรคระบาดยังอยู่แม้ไม่รุนแรง และมีการอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนได้เท่ากับว่าพ่อแม่ผู้ปกครองฝากความปลอดภัยของลูกหลานไว้ที่ครู ในขณะเดียวกันครูก็ต้องยกระดับความรู้ทักษะด้าน Online learning ของตนเองอีกเพื่อใช้สอนเด็กๆ ก็ถือว่าเป็นงานที่หนักมากๆ

3. สรรพวิชาจะถูกปรับคุณภาพและพัฒนาขึ้นมาใหม่อย่างมาก (Quality teaching and learning materials will be better created and more widely used)
การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ไปกับโลกยุคใหม่และเก็บรวบรวมอยู่ในฐานความรู้จะถูกจัดทำขึ้นทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก รวมทั้งนำไปขึ้นในระบบ Online learning ซึ่งนอกจากนักเรียนและครูจะใช้ได้แล้ว ผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องจะสามารถเข้าไปดูย้อนหลังถึงความเหมาะสม ประสิทธิภาพ และมีลักษณะเชิงสาธารณะมากขึ้น

4.ความร่วมมือในเรื่องการศึกษาจะมีมากขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Teacher collaboration will grow and help improve learning)
ในอนาคตจะเกิดความร่วมมือมากขึ้นระหว่างครู ผู้พัฒนาเนื้อหา เป็นต้น ในลักษณะข้ามสถานศึกษา เพราะระบบ Online learning อาจช่วยแบ่งปันครูที่ชำนาญและสอนเก่งในวิชาหนึ่งไปยังโรงเรียนอื่นๆ หรือใช้เนื้อหาร่วมกันเพื่อประหยัดเวลาในการพัฒนา ทำให้หันไปพัฒนาส่วนอื่นๆ ที่ขาดอยู่ให้เกิดความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นต่อไป

ในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา จึงมีความห่วงใยส่วนตัวเมื่อมองมาที่ระบบการศึกษาของไทยที่ถูกประเมินและวิจารณ์ว่าล้าหลังและขาดประสิทธิภาพ เดิมทีอุตสาหกรรมการศึกษาก็ถูกคุกคาม (Disruption) จากภายนอก และมีความอ่อนแอจากภายในอยู่แล้ว เหตุการณ์ Covid-19 เหมือนมาเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น ประเทศไทยน่าจะอาศัยโอกาสนี้ทำการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญ ยกระดับการศึกษาไทยสู่ยุค Digital ไปเลย เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หลังจากที่ Covid-19 ผ่านพ้นไป

ที่มา : https://www.set.or.th/set/enterprise/knowledgedetail.do?contentId=7057

อ่านประกอบ

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 5) : ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสายการบิน

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 4) : การปรับตัวของธุรกิจบริการ “Hospitality Industry”

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 3) : สรุปการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในธุรกิจร้านอาหาร

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 2) : กูรูในวิชาชีพต่างๆ มองโลกการเปลี่ยนแปลง

“โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 1)”