HoonSmart.com>> “อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น” เผยชนะอุทธรณ์ กฟภ.โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ เกาะปันหยี จ.พังงา 144 ล้านบาท หนุนรายได้รวมพุ่ง ด้านผลงานไตรมาส 1/63 รายได้รวม 1,349 ล้านบาท กำไร 77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% ฝ่าโควิด มั่นใจทั้งปีโตตามเป้ารายได้ 5,950 ล้านบาท เป้ากำไรสุทธิ 6% ของรายได้ ชี้มติซื้อหุ้นคืน ทำราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น
นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ชนะอุทธรณ์โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 33 kV ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เกาะปันหยี จ.พังงา ซึ่งบริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 144 ล้านบาท ปัจจุบันกระบวนการพิจารณาได้สิ้นสุดลงแล้ว ตามมติที่ประชุมกฟภ. เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 ซึ่งส่งผลให้รายได้รวมของกลุ่มบริษัทฯ เพิ่มขึ้น
บริษัทฯ มั่นใจรายได้ปีนี้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2563-2567) ที่วางไว้ โดยเป้าหมายทั้งปี 2563 อยู่ที่ 5,950 ล้านบาท มาจากธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) 2,340 ล้านบาท ธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) 2,396 ล้านบาท และธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ (Engineering) 1,214 ล้านบาท บริษัทฯ ได้ปรับสัดส่วนรายได้ของธุรกิจที่มีอัตรากำไรที่ดีเพิ่มขึ้น โดยไม่เน้นการเติบโตของรายได้ มุ่งเน้นการทำกำไรสุทธิของกลุ่มบริษัทฯ
สำหรับผลการดำเนินงานงวดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2563 กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ ฯ มีรายได้รวม 1,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานอยู่ที่ 77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57%
นอกจากนี้จากการที่คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ซื้อหุ้นของบริษัทคืนในจำนวนไม่เกิน 40 ล้านหุ้น ปัจจุบันซื้อคืนมาแล้วกว่า 1 ล้านหุ้น ส่งผลให้ราคาซื้อขายหุ้นปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30%
“ในขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มลดลง ต้องทำวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสให้ได้ เนื่องจากธุรกิจของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ อยู่ในธุรกิจการสื่อสารที่เป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตใหม่ ทำให้มั่นใจได้ว่าแนวโน้มรายได้ในปี 2563 จะเป็นไปตามเป้าแน่นอน”นายสมบัติ กล่าว
สำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) ไตรมาสแรกมีรายได้อยู่ที่ 540 ล้านบาท มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 30 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายเป็น “ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณและอุปกรณ์เน็ตเวิร์คสวิตซ์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และก้าวไกลไปสู่อาเซียน” ธุรกิจนี้มีสัดส่วนรายได้ 45% ของรายได้รวมทั้งกลุ่ม ปัจจุบัน สามารถก้าวผ่านสถานการณ์ COVID-19 ได้ มีรายได้รวมไตรมาสที่ 1/2563 มากกว่าไตรมาสที่ 1/2562 ของปีที่แล้ว อยู่กว่า 1% โดยชูแคมเปญ “คุณสั่ง เราส่ง” เพื่อสนับสนุนคู่ค้าที่ประสบปัญหาไม่สามารถเปิดกิจการของตัวเองได้ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมทั้งหมดผ่านรูปแบบออนไลน์ “Online Seminar & Lunch Online With INTERLINK” ช่วยให้คู่ค้าได้รับความรู้ และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากบริษัทฯ เหมือนเดิม และยังคงจัดกิจกรรม “Expo Sales Online” เพื่อเพิ่มยอดขายในแต่ละภูมิภาค
สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) ยังคงการเติบโตที่โดดเด่น ไตรมาสแรกมีรายได้อยู่ที่ 455 ล้านบาท กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้ามากกว่า 3% ซึ่งมีรายได้หลักมาจากงานบริการโครงข่ายซึ่งถือเป็นรายได้หลักอยู่ที่ 267 ล้านบาท เป็นผลจากการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล (USO Phase 2) ที่เริ่มเปิดให้บริการในไตรมาสนี้
นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ชนะประมูลงานจากภาครัฐอีกหลายโครงการ อาทิ (1) งานประกวดราคาบริการระบบเครือข่ายเสมือนและระบบแจ้งเตือนข้อความสั้น (SMS) ของการประปาส่วนภูมิภาค มูลค่าโครงการรวม 17.12 ล้านบาท (2) งานจ้างเหมาตรวจซ่อม และบำรุงรักษาโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง แบบเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง รวม 12 เขต ระยะที่ 4 กลุ่มงานที่ 1 ภาคเหนือ (กฟน.1, กฟน.2, กฟน.3) ระยะทาง 9,92.44 กิโลเมตร จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมมูลค่าโครงการ 96.18 ล้านบาท นับจากนี้จะมีการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมศักยภาพด้านการแข่งขัน สนับสนุนรายได้เพิ่มขึ้นของธุรกิจโทรคมนาคมอีกด้วย
สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ (Engineering) ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 344 ล้านบาท ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตามแผนปรับลดสัดส่วนรายได้ของธุรกิจวิศวกรรมจาก 20% เหลือเพียง 5% และเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา มติจากที่ประชุมบอร์ดกฟภ. ให้บริษัทฯ ชนะอุทธรณ์เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 33 kV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าไปที่เกาะปันหยี จ.พังงา มูลค่า 144 ล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้งานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 3 งานด้วยกัน มูลค่ารวมกว่า 323.48 ล้านบาท โดยทั้ง 3 งานลงนามสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ งานโครงการ CC3 อาคาร SAT-1 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากกว่า 90% และงานจัดหารถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ขณะนี้ตัวรถของบริษัท ซีเมนส์ จำกัด รุ่น Airval อยู่ระหว่างการผลิตที่ประเทศออสเตรีย มีแผนส่งมอบรถขบวนแรกถึงประเทศไทยต้นเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ คาดจะทยอยส่งมอบรถไฟฟ้าครบทั้ง 6 ขบวน แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ช่วงปลายปี 2563 นี้ สำหรับ Backlog ยังเหลือรับรู้รายได้อีกกว่า 1,444 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษในปี 2563 เป็นไปตามเป้าอย่างแน่นอน