HoonSmart.com>>หุ้นแบงก์กรุงเทพเริ่มติดเครื่อง บวก 0.75 บาท รับข่าวซื้อแบงก์เพอร์มาตา อินโดนีเซียสำเร็จ ได้ราคาถูกกว่าคาด หนุนเติบโตแข็งแกร่งระยะยาว บล.บัวหลวงแนะซื้อ ดีบีเอสฯให้ถือ เป้า 104 บาท บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เชียร์เก็งกำไร ชี้เป้า 136 บาท บล.ทิสโก้ให้ซื้อ BBL เป้า 154 บาท TMB ราคา 1.25 บาท KKP 56 บาท ธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ ไทยพาณิชย์ ลง 0.125-0.35% กสิกรไทยลด 0.13-0.38% บล.โนมูระพัฒนสินคาดกนง.หั่นอีกรอบในไตรมาส 3 บล.ไทยพาณิชย์คาดเห็น 0.25%ในปีนี้ ขณะที่ EIC คาดรอดูมาตรการการเงิน-การคลังก่อน หากไม่ได้ผลลงอีกครั้ง
วันที่ 21 พ.ค. 2563 นักลงทุนเริ่มหันมาสนใจหุ้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ราคาขยับขึ้น ปิดที่ 96.75 บาท + 0.75 บาทหรือ 0.78% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 1,179 ล้านบาท ขานรับความสำเร็จในการซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยบล.บัวหลวงออกบทวิเคราะห์คงคำแนะนำซื้อ มองบวกจากการซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาในราคาหุ้นละ 2.95 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8.26 หมื่นล้านบาท มาจากกระแสเงินสดและพอร์ตเงินลงทุนกว่า 5.5 แสนล้านบาท ไม่ต้องเพิ่มทุนหรือลดอัตราการเงินปันผล
ตลาดยังมีแนวโน้มการปรับกำไรของธนาคารกรุงเทพ และราคาหุ้นซื้อขายเพียง 0.4 เท่าของมูลค่าหุ้นทางบัญชี(P/BV) มีอัพไซด์ นอกจากนี้ยังมีสำรองค่าเผื่อหนี้สูญสะสมต่อ NPLs สูงสุดในกลุ่มธนาคาร
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” หุ้น BBL ราคาเป้าหมาย 104 บาท หลังเข้าซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาเรียบร้อยแล้ว จะช่วยหนุนการเติบโตในระยะยาว ธนาคารกรุงเทพใช้เงินลงทุนทั้งหมด 8.26 หมื่นล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิม -9% และทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศของ BBL จะเพิ่มเป็น 25% จาก 17% มาจากอินโดนีเซีย 9% ของสินเชื่อทั้งหมด
สำหรับโครงสร้างสินเชื่อของเพอร์มาตาเป็นสินเชื่อรายใหญ่ 42%, สินเชื่อ SME 26%, สินเชื่อรายย่อย 32% โดยมีแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในระดับชั้นนำ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น Indosat, Air Asia, Home Credit, Astra เป็นต้น
บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำซื้อเก็งกำไรหุ้น BBL ให้ราคา 136 บาท ยังไม่รวมผลการดำเนินงานของธนาคารเพอร์มาตาเข้ามาในปี 2563 ซึ่งถือว่าปิดดีลได้เร็วกว่าคาด และได้ราคาซื้อที่ถูกลง แม้ระยะสั้น ผลกระทบโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซียไม่ต่างจากไทย แต่ในระยะยาวยังเชื่อว่าจะเกิด synergy มองการโตแบบ inorganic growth ในประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตอย่างอินโดนีเซียน่าจะช่วยเสริมธุรกิจและกำไรให้กับ BBL ปัจจุบันหุ้นเทรด P/BV เพียง 0.44 เท่า ถือว่าถูกมาก
อย่างไรก็ตาม หุ้น BBL ปรับตัวขึ้นไม่มาก เพราะมีปัจจัยลบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งสามประเภทกดดันแนวโน้มกำไรในไตรมาส 2 แต่ราคายังดีกว่าหุ้นธนาคารใหญ่ เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปิดที่ 87.25 บาท -0.75 บาทหรือ -0.85% และธนาคารไทยพาณิชย์ ปิดที่ 69 บาท -0.75 บาทหรือ 1.08% โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ลดลง 1.51 จุดหรือ-0.11% ปิดที่ 1,320.69 จุด มีแรงขายทำกำไรหลังจากตลาดบวกแรงถึง 10 จุดขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 1,333 จุด
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.50% ในการประชุวันที่ 20 พ.ค.2563 ในวันเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพประกาศนำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งสามประเภท โดยอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ลดลง 0.225% ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) เหลือ 5.25% ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) เหลือ 5.875% ส่วนอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลง 0.35% เหลือ 5.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21พ.ค. 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงในระหว่าง 0.125-0.35% MLR จาก 5.375% เป็น 5.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร MOR ลดลงจาก 6.095 % เป็น 5.845% และMRR ปรับจาก 6.345 % เป็น 5.995 % ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร ทั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป
ธนาคารกสิกรไทย ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภทลง 0.13%-0.38% มีผลวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดย MOR ลงสูงสุดถึง 0.38% คงเหลือเพียง 5.84% ส่วน MLR และ MRR ลงอีก 0.13% คงเหลือ 5.47% และ 5.97% ตามลำดับ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ปรับ MLR จาก 5.83% เป็น 5.58% MOR จาก 6.30% เป็น 5.95% และ MRRจาก 6.30% เป็น 6.05%
บล.ทิสโก้เปิดเผยว่า การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ลง 0.10-0.20 % หากไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากในอนาคตจะกดดัน NIM จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงทุก 0.10% ของ NIM ที่ลดลง จะทำให้ผลประกอบการปี 2563 ลดลง 8% โดยเฉลี่ย ทำให้ KKP เป็นหุ้นแนะนำที่ได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อมีดอกเบี้ยที่คงที่
“คาดผลดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 2 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของรอบนี้ ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวหลังการล็อกดาวน์ เว้นแต่ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 คาดว่าผลประกอบการจะเริ่มฟื้นตัวชัดขึ้นในไตรมาส 3 ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินงาน เราแนะนำให้ “ซื้อ” BBL, TMB, KKP โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 154 บาท, 1.25 บาท และ 56 บาท ตามลำดับ “บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ระบุ
บล.โนมูระพัฒนสิน (CNS) คาดกนง.จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในไตรมาส 3/2563
บล.ไทยพาณิชย์ คาดกนง.จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกครั้งในปีนี้สู่ระดับ 0.25% เมื่อพิจารณาจาก 4 ปัจจัย คือ 1.เศรษฐกิจ ยังมีแนวโน้มชะลอลงอีก และมีความเสี่ยงภาวะเงินฝืด การลดดอกเบี้ยจะช่วยหนุนไม่ให้ตกต่ำมาก 2.รัฐบาลจะออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบฯ มากขึ้น หากไม่ลดดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนพันธบัตรเพิ่มขึ้น 3. เป็นการลดแรงจูงใจในการเข้าเก็งกำไรในตลาดพันธบัตร ทำให้บาทอ่อนลง และช่วยผู้ส่งออก 4. ภาคสหกรณ์ลงทุนในตลาดพันธบัตรค่อนข้างมาก การลด ดอกเบี้ยช่วยไม่ให้สภาพคล่องในระบบการเงินตึงตัว
EIC คาดกนง.คงดอกเบี้ยช่วงที่เหลือของปีรอดูผลการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลัง กรณีเศรษฐกิจครึ่งปีหลังหดตัวรุนแรง เศรษฐกิจโลกซบเซา บริโภคในประเทศยังไม่ฟื้น ตกงานเพิ่มขึ้น กนง.อาจลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% อย่างเร็วไตรมาส 3/63
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรอดูผลของการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังที่ได้ดำเนินไปค่อนข้างมาก โดยมติ 4 ต่อ 3 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้สะท้อนได้ว่า คณะกรรมการบางส่วนมีความต้องการที่จะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อประเมินผลจากการผ่อนคลายนโยบายต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินไปค่อนข้างมาก