หุ้นบวก12 จุดรับดอกเบี้ยลด 0.25% BBL นำหั่นเงินกู้ หยวนต้าแนะซื้อแบงก์

HoonSmart.com>> ตามคาด กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.50% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ธนาคารกรุงเทพนำร่องหั่นเงินกู้ 3 ตัวรวด กด MLR ต่ำสุด เหลือ 5.25 % เงินบาทอ่อนค่า ดัชนีหุ้นพุ่งขึ้น 12 จุด บล.หยวนต้าชวนหาจังหวะซื้อหุ้นแบงก์ ราคาถูก ปันผลราว 5 % แนะ SCB-KBANK-TMB  บล. โนมูระพัฒนสินเชียร์เช่าซื้อ-ไฟแนนซ์ หุ้นปันผลสูง บริษัทได้ประโยชน์จากบาทอ่อน ยก DELTA โรงไฟฟ้าต้อง TPCH บล.เอเซียพลัสแถมอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ LH-AP ธนาคารกรุงศรีฯ คาดหมดกระสุนดอกเบี้ยแล้ว

ตลาดหุ้นไทยไปได้สวย วันที่ 20 พ.ค. ดัชนีปิดที่ 1,322.20 จุด เพิ่มขึ้น 12.25 จุด +0.94% มูลค่าการซื้อขาย 67,672.70 ล้านบาท หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 0.50% ตามตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้มีแรงไล่ซื้อหุ้นเช่าซื้อ ไฟแนนซ์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และหุ้นปันผลสูง เช่น ADVANC ในช่วงบ่าย ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นชัดเจน

ทางด้านธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ 3 ประเภท ลงเหลือต่ำสุด 5.25% สำหรับ MLR หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา ส่วน MOR ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี เหลือ 5.875% และ MRR หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี เหลือ 5.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.  2563 เพื่อสนับสนุนกลไกภาครัฐ และช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนลดต้นทุนทางการเงินรับมือโรคโควิด- 19

บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 0.50% ตามคาด กลุ่มธนาคารพาณิชย์อ่อนตัวช่วงแรกรับข่าวแล้วมีแรงซื้อกลับ เพราะ Downside ในการลดดอกเบี้ยหลังจากนี้เหลือไม่มาก และมูลค่ากลุ่มแบงก์ยังถูก สัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี (P/BV) เฉลี่ยเพียง 0.5 เท่า ผลตอบแทนปันผลสูงราว 5% สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงแนะนำเก็งกำไร SCB, KBANK, TMB

บล.เอเชียพลัสเปิดเผยว่า  กนง.ยังส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม (ดอกเบี้ยในอนาคตมีโอกาสลดลงได้อีก) เนื่องจากดอกเบี้ยที่แท้จริงยังเป็นบวก 3.49% และดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% จะทำให้ Market Earning Yield Gap กว้างขึ้น ส่งผลให้ค่า P/E เป้าหมายของตลาดสูงขึ้นได้ราว 0.7-0.8 เท่า มาเป็น 18.1 – 18.2 เท่า ซึ่งเป็นผลดี แต่ตลาดยังมีความเสี่ยงที่จะลดลงจากประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน  กำไรต่อหุ้นของตลาดปัจจุบันที่ 72.6 บาท/หุ้น มีโอกาสถูกปรับลงเป็น 66-67 บาท/หุ้น และหากอิงดัชนีที่ 1,300 จุด ค่า P/E สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 19.7- 20.3 เท่า สูงกว่าค่า P/E เป้าหมายใหม่กรณีปรับลดดอกเบี้ย แสดงถึงผลบวกจากการลดดอกเบี้ย ไม่อาจชดเชยผลกระทบจากการปรับลดประมาณได้

อย่างไรก็ตาม ช่วงสั้นการลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นผลเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุน แต่ถือเป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่มเช่าซื้อ, อสังหาริมทรัพย์ เช่น LH และ AP, หุ้นปันผล เช่น ADVANC, PTT, RATCH, TTW, DCC, DIF เป็นต้น

บล.โนมูระ พัฒนสิน แนะนำหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยลดลง เช่น กลุ่มเช่าซื้อไฟแนนซ์ BAM, MTC, SAWAD, KKP, TISCO กลุ่มปันผลสูง บริษัทที่ได้ดีจากเงินบาทอ่อนค่า DELTA และ โรงไฟฟ้า TPCH

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กนง.ลดดอกเบี้ยลงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ระดับ 31.92 ต่อดอลลาร์   ก่อนจะกลับมาแข็งค่า  โดยนับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า 6% ซึ่งเป็นผลจากไวรัสโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจรุนแรง และภาวะเงินทุนไหลออก

สำหรับความเห็นของ กนง. ยังแสดงถึงมุมมองที่สนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนปรน แม้ว่าการลงมติด้วยคะแนนสูสีที่ 4:3 โดยมีคณะกรรมการ 3 ท่านต้องการให้คงดอกเบี้ย แสดงให้เห็นถึงการสิ้นสุดของวัฎจักรการปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว และคณะกรรมการ กนง. ได้กล่าวย้ำถึงความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่เห็นว่าเหมาะสมและจำเป็น แต่ได้ตัดคำว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย” ออกไป จึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ที่ระดับ 0.50% ในระยะข้างหน้า และ กนง. น่าจะใช้มาตรการแบบเจาะจงเป้าหมายเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งนี้ คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 24 มิ.ย. 2563