IRPC ปรับกลยุทธ์ ลดงบลงทุน 5 ปี เหลือ 2.8 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>”ไออาร์พีซี” รับมือเศรษฐกิจขาลง ปรับแผนลงทุน ลดต้นทุนการผลิต-ค่าใช้จ่าย วางกลยุทธ์การตลาด ตั้งเป้า EBITDA ปีนี้  1,904 ล้านบาท  บล.ทรีนีตี้แนะนำซื้อ ให้ราคา 3 บาท

น.ส.กัญญามาส ฤทธิเดช ผู้จัดการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทได้วางกลยุทธ์และปรับแผนลงทุน ค่าใช้จ่าย รับมือภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยการปรับกลยุทธ์การตลาด การลดงบลงทุน และการเพิ่มการลงทุนในโครงการ Strengthen IRPC เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตในช่วง 4 ปี (2563-2566) ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้ามีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 4,600 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้อยู่ที่ 1,904 ล้านบาท มาจากโครงการ E4E, โครงการ IRPC 4.0 และโครงการใหม่ เช่นโครงการลดการสำรองน้ำมันดิบ ปีนี้ตั้งเป้าลดการสำรองน้ำมันดิบเพื่อลดต้นทุน  รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในด้านการกักตุนวัตถุดิบ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 1,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี (2563-2565)

นอกจากนี้บริษัทได้ปรับลดงบลงทุนภายใน 5 ปี (2563-2567) จากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 53,953 ล้านบาท ลงเหลือ 28,055 ล้านบาท เช่น การลงทุนในโครงการต่าง ๆ ลดลงเหลือ 15,009 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 41,598 ล้านบาท โดยชะลอโครงการผลิตอะโรเมติกส์ หรือโครงการ MARS แต่ยังคงการลงทุนในโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ไว้ เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ส่วนการปรับปรุงโครงการต่างๆ ลดลงเหลือ 10,870 ล้านบาทจากเดิมวางไว้ที่ 12,355 ล้านบาท และเพิ่มการลงทุนในโครงการ Strengthen IRPC จำนวน 2,176 ล้านบาท

สำหรับในปีนี้ตั้งงบลงทุนจำนวน 4,780 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่คาดไว้  6,962 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการต่าง ๆ จำนวน 2,159 ล้านบาท และการปรับปรุงโครงการ จำนวน 2,367 ล้านบาท และโครงการ Strengthen IRPC ที่ 254 ล้านบาท

น.ส.กัญญามาสกล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2563 น่าจะยังมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันอยู่บ้าง จากไตรมาส 1 ขาดทุนถึง 8,905 ล้านบาท ปัจจุบันราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของ IRPC ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมียังได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยจะพยายามทำให้น้อยกว่าตลาด เช่น ปรับลดการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยาน ที่ได้รับผลกระทบ 100% และเพิ่มการผลิตในส่วนของน้ำมันดีเซล เพื่อลดผลกระทบจากความต้องการใช้ให้ลดลงเหลือ 10% จากเดิม 30% รวมถึงเน้นขายในประเทศเป็นหลัก และขายในประเทศที่มีการปลดล็อกดาวน์แล้ว

ด้านบล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น IRPC ราคาเป้าหมาย 3 บาท  หลังผู้บริหารประชุมนักวิเคราะห์ บริษัทตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดรายจ่ายลงทุน ( CAPEX ) ลง 30% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน(OPEX )ลง 10%

ผู้บริหารมองผลประกอบการไตรมาส 2 จะฟื้นจากต้นทุนน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ราคา crude เป็น discount จากปกติที่ซื้อขาย premium แนวโน้มอัตราเข้ากลั่นจะอยู่ประมาณ 180-190 พันบาร์เรลต่อวัน (KBD )และ ไตรมาส 3จะเพิ่มขึ้นเป็น 200 KBD ขณะที่ผลิตภัฑณ์ของบริษัทได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อย น้ำมัน Jet มีเพียง 4-5% และสามารถปรับเป็นน้ำมันดีเซลแทนได้เกือบทั้งหมด จะมีผลกระทบจากน้ำมันเบนซินบ้าง และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังค่อนข้างดี

“เรามีมุมมองเป็นกลางและยังคงเป็นตามที่คาดไว้ ไตรมาส 1 น่าจะเป็นจุดต่ำสุด ไตรมาส 2 กำไรปกติ 100-200 ล้านบาท ถึงแม้กำลังการกลั่น จะลดเหลือเพียง 185 KBD แต่ได้ต้นทุนของน้ำมันที่ลดลงมาชดเชยได้ คาดว่าจะได้ส่วนลด crude discount 3 ดอลลาร์/บาร์เรล ในขณะที่ไตรมาส 1 อยู่ที่ 5 ดอลลาร์ ยังแนะนำ ซื้อ  แม้ upside อาจจะเหลือไม่มาก แต่ถ้าใช้ราคาเป้าหมายในปีหน้าที่ 3.40 บาท น่าจะสะท้อนผลประกอบการที่เป็นปกติมากกว่าปีนี้”บล.ทรีนีตี้ระบุ

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 3 บาท อัตรากำไรขั้นต้นน่าจะดีขึ้นในไตรมาส 2 ราคาน้ำมันดิบในตะวันออกกลางที่ลดลงจะนำไปสู่การประหยัดต้นทุน และกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มน่าจะดีขึ้นเป็น 9.5ดอลลาร์ /บาร์เรล ในไตรมาส 2 จาก 6.8 ดอลลาร์ ในไตรมาส 1 แต่ยังคงต่ำกว่าต้นทุนต่อหน่วยที่ 11 ดอลลาร์

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “เต็มมูลค่า” ราคาเป้าหมาย 1.95 บาท มีโอกาสที่ธุรกิจโรงกลั่นจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าจุดคุ้มทุนในไตรมาส 2 เพราะบริษัทมีต้นทุนดำเนินงานที่เป็นเงินสดสูงกว่าเฉลี่ยของกลุ่ม แม้ว่าจะลดต้นทุนไปได้พอควรแล้วก็ตาม