กองทุน Cut Loss หวั่นหลุด 1,600 ขายอนุพันธ์ซ้ำเติมหุ้น

หุ้น-ค่าเงินเอเชียร่วงระนาว กองทุนลดน้ำหนักหุ้น ยอมขายขาดทุน ชี้สงครามการค้าสหรัฐ-จีน แรงกว่าที่ตลาดคาด “บลจ.ไทยพาณิชย์” แนะชะลอลงทุนหุ้นไทย-เกาหลี ส่วนพอร์ตโบรกเกอร์ ขายหนัก 4,809 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากลูกค้าชอร์ตอนุพันธ์ ตลาดหลักทรัพย์เผยต่างชาติขายรอบนี้ มูลค่าตลาดหายไป 1 ล้านล้านบาท

วันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเอเชียร่วงแรงถ้วนหน้า โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน ดัชนีเซี่ยงไฮคอมโพสิต ทรุดหนักที่สุด 3.78% หลังจากตลาดหุ้นเพิ่งกลับมาเปิดการซื้อขาย ส่วนหุ้นไทยปรับตัวลงแรงอย่างต่อเนื่องกว่า 40 จุด ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายมากถึง 84,628 ล้านบาท แรงขายอย่างรุนแรงมาจากพอร์ตบริษัทหลักทรัพย์ จำนวน 4,809.40 ล้านบาท ส่วนต่างชาติขายต่อเนื่อง 2,644 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยรับซื้อกลุ่มเดียว 9,077 ล้านบาท

ขณะที่ค่าเงินเอเชียอ่อนตัวลง ดอลลาร์ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 110 เยน ส่วนเงินบาทแนวโน้มอ่อนตัวลงต่อ และมีโอกาสทดสอบ 33 บาทต่อดอลลาร์ สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 1% หลุดระดับ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวว่า กองทุนปรับพอร์ตการลงทุน โดยลดน้้ำหนักหุ้นลงและถือเงินสดเพิ่มขึ้น ผู้จัดการกองทุนต้องยอมตัดขายขาดทุน (Cut Loss) เนื่องจากแนวโน้มตบาดยังจะปรับตัวลงต่อเนื่อง และมีโอกาสลงไปต่ำกว่า 1,600 จุดได้ เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนบานปลายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

“หุ้นไทยรูดลงแรงกว่า 40 จุด ไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะสงครามการค้าสหรัฐและจีนแรงเกินคาด นักลงทุนทั่วโลกต้องขายหุ้นและถือเงินสด อีกทั้งการที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีกับสินค้าจีนก็จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนและการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะกระทบเอเชียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับนักลงทุนแนะนำว่าไม่ต้องรีบเข้าซื้อหุ้น เพราะโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวลงยังมีความเป็นไปได้มากจากปัจจัยต่างประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งก็ตาม ดังนั้นควรรอให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้นก่อน โดยมองหุ้นกลุ่มที่อิงการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ ธีม Domestic Play ยังน่าสนใจ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ แนะนำให้ชะลอการลงทุนหุ้นของประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกในระดับสูง เช่น เกาหลีและไทย เนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวลง จึงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดเหล่านี้ไว่ก่อน เพื่อรอดูปัจจัยบวก เช่น การเจรจาการค้า

ส่วนกรณีที่พอร์ตบริษัทหลักทรัพย์มีการขายหุ้นมากถึง 4,809.40 ล้านบาท จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดัชนีหุ้นร่วงลงแรงกว่า 40 จุด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวว่า การขายหุ้นของพอร์ตบริษัทหลักทรัพย์ มาจาก 3 เหตุผล คือ 1.พอร์ตการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์เอง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่มีพอร์ตการลงทุน
2.บริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการอนุพันธ์ ขายหุ้นรายตัวออกมา เนื่องจากมีลูกค้าขาย Single Stock Futures โบรกเกอร์ก็ต้องขายหุ้นที่ใช้อ้างอิงในพอร์ตด้วย และ 3 บริษัทหลักทรัพย์ขายหุ้น เพราะลูกค้าขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(Put-DW)

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยที่ทรุดกว่า 2.39% ทำให้นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ต้องออกมาให้สัมภาษณ์เพียงสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ว่า ต่างชาติขายหุ้นทำให้มูบค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมหรือมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยหายกว่า 1 ล้านล้านบาท จาก ม.ค. 61 อยู่ที่ 18 ล้านล้านบาท และปัจจุบันอยู่ที่ 16.7-16.8 ล้านล้านบาท

“รอบนี้ต่างชาติปรับพอร์ตหุ้นไทยครั้งใหญ่ในรอบ 2 ปี จากปี 2558 ที่มีการขายสุทธิประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติปัจจุบันยังอยู่ที่ ประมาณ 30-31% ใกล้เคียงกับช่วง พ.ค. 2560 เพราะที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงมาก และเป็นการขายในส่วนที่เป็นกำไรออกไปส่วนใหญ่”นายภากรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าดัชนีจะดีดตัวกลับใช้ระยะไม่นานมากนัก จากสถิติที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ เช่น น้ำท่วมใช้ระยะเวลาดีดตัวกลับ 6 เดือน ปัญหาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 10 เดือน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยถือว่าอยู่ในระดับแข็งแกร่งโดย ไตรมาสแรกขยายตัว 4.2-4.7% การบริโภค 3.6% การลงทุน 3.4% และการส่งออก 9.9% ดังนั้น จึงไม่กังวลกับสถานการณ์เทขายของต่างชาติที่เกิดขึ้นมากนัก