Krungthai COMPASS คาดศก.ไทยปีนี้ดิ่งลึก -8.8%

HoonSmart.com>> “Krungthai COMPASS” ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัว 8.8% แม้ไตรมาส 1/63 หดตัวน้อยกว่าตลาดคาด ชี้แค่จุดเริ่มต้นผลกระทบ COVID-19 มองเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเต็มตัว คาดกนง.คงดกเบี้ย 0.75% ประชุม 20 พ.ค.นี้ โอกาสหั่น 1 ครั้งในไตรมาส 2 นี้

นายมานะ นิมิตรวานิช และน.ส.พิมฉัตร เอกฉันท์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจหดตัวราว 8.8% แม้ว่าไตรมาสแรกจะหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ -3.9% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่มาตรการปิดเมืองของประเทศต่างๆ พึ่งเริ่มต้นในช่วง มี.ค. ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลึกสุดในไตรมาสที่ 2 ที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดไปพร้อมกับความเข้มข้นของมาตรการเฝ้าระวังการควบคุมโรค ก่อนที่เศรษฐกิจจะหดตัวน้อยลงในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น ซึ่งในกรณีนี้คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 6.1% แต่มูลค่าจีดีพียังคงต่ำกว่าในปี 2562

การแพร่ระบาดของ COVID-19 แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจาก Supply Shock ก่อนลุกลามไปยังฝั่ง Demand โดยมองภาคบริการจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากมาตรการจำกัดการเดินทางและการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่มากขึ้น (New Normal) สะท้อนจากข้อมูลในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่เกือบทุกประเทศได้รับผลกระทบจาก COVID-19 พบว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเหลือเพียง 3.4 หมื่นคนหรือลดลงถึง 99.1%YoY (ข้อมูลจาก ก.ท่องเที่ยวฯ)


ทั้งนี้ คาดว่าจำนวนรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเสียหายราว 1.2 ล้านล้านบาท กระทบจีดีพีปีนี้ลดลงกว่า 8.0% ซึ่งประเมินว่านักท่องเที่ยวทั้งปี 2020 จะอยู่ที่ 8.1 ล้านคน หรือหดตัว 79.6%YoY นอกจากนี้ ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศจะยังคงซบเซาต่อไป แม้ว่าจะเริ่มคลายล็อคมาตรการต่างๆ มากขึ้น โดยคาดว่า รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ กระทบต่อจีดีพีราว 3.7% และจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง

ตลาดอสังหาฯ ซบเซาต่อเนื่องกระทบไม่น้อยกว่า 0.7% ของจีดีพี ภาคการผลิตหดตัวจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจราว 3.4% ของจีดีพี โดยการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์มีความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นๆ อย่างมาก รวมทั้งภัยแล้งซ้ำเติมผลผลิตเกษตรเสียหายราว 0.5% ของจีดีพี โดยคาดว่าภัยแล้งจะลากยาวไปจนถึงกลางปีนี้ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรถูกกำหนดโดยกลไกของตลาดโลกชะลอลง และ ส่งผลต่อเนื่องกลับไปยังรายได้เกษตรกรต่อไป


สำหรับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ฝั่ง Supply side รวมถึงเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้าน Demand-side ให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้เพียงบางส่วน โดย COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตต่ำกว่าศักยภาพค่อนข้างมาก โดยมองการบริโภคในประเทศหดตัวจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้น จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งมูลค่าการส่งออกหดตัวอย่างรุนแรงจากอุปสงค์ต่างประเทศ

Krungthai COMPASS มองการหดตัวที่ต่ำกว่าตลาดคาดในไตรมาสแรกทำให้คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ในการประชุมวันที่ 20 พ.ค. แต่เราคาดว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสสอง เนื่องจากเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจโลก รวมทั้งไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคของประเทศต่างๆ มากที่สุด


นอกจากนี้จับตาคลายล็อคดาวน์ที่อาจนำมาสู่การระบาดซ้ำ ซึ่งหากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นทั่วโลกอีกครั้งอาจฉุดให้จีดีพีไทยปี 2563 หดตัวได้มากถึง 11.7% สะท้อนบทเรียนของหลายประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดได้แล้วก่อนหน้านี้ แต่กลับต้องเผชิญกับการระบาดอีกครั้งจากการผ่อนคลายล็อคดาวน์ ซึ่งหากการระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งจนทำให้ต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจทำให้จีดีพีหดตัวหนักขึ้น และทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าลงไปอีก

ทั้งนี้ สอดคล้องกับมุมมองของ Jerome Powell ประธานเฟดที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะไม่ฟื้นตัวเต็มที่และกลับไปเติบโตเหมือนเดิมหากยังไม่มีวัคซีนเข้ามาช่วยรักษา