GDP ไตรมาส 1/63 หดตัว 1.8% ทั้งปีลบ 5-6% ส่งออก -8%

HoonSmart.com>>สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 1/2563 หดตัว -1.8% ดีกว่าตลาดคาด -4.5% ถึง -3.8% รวมทั้งปี -6% ถึง -5% เครื่องยนต์ทุกตัวเสีย  แนะรัฐประคองเศรษฐกิจช่วงขาลงแรง  ให้ความสำคัญการประสานนโยบายการเงินการคลัง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สร้างความมั่นใจภาคธุรกิจพร้อมกลับมา 

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ไตรมาส 1/2563 ลดลง 1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 4/2562 จากตลาดคาด -4.5% ถึง -3.8% เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว จะลดลง 2.2% จากไตรมาส 4/2562

สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวเกิดจากการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนชะลอลง การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง และการส่งออกลดลงตามการส่งออกบริการที่ลดลงมาก ในขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว ด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่ง และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง ขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งและการขายปลีก สาขาการผลิตสาขาไฟฟ้า และก๊าซ สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารขยายตัว

นายทศพรกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะลดลง -6.0 ถึง -5.0% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ, การระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลง -8.0% การบริโภาคภาคเอกชนและการลงทุนรวม ปรับตัวลดลง -1.7% และ -2.1% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.5% ถึง -0.5% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9% ของ GDP

นายทศพร กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการลดลงอย่างรุนแรงของรายได้จากการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและสร้างความมั่นใจว่าภาคธุรกิจมีความพร้อมในการกลับมาดำเนินกิจกรรม  การให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงรุนแรงมากเกินไป รวมทั้งเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าในช่วงที่ผ่านมาและได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าบางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 90.2% ของวงเงินงบประมาณ โดยเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 99.0% และ 55.0% ตามลำดับ, การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่า 90.0%, การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 75.0% และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบ