SAWAD โชว์กำไร Q1/63 แตะ 1,033 ลบ. โต 23%

HoonSmart.com>> “ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น” กางงบไตรมาส 1/63 กำไร 1,033 ล้านบาท เติบโต 23% จากงวดปีก่อน รายได้ดอกเบี้ย 2,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% พอร์ตสินเชื่อขยายตัว 18% ทะลุ 4 หมื่นล้านบาท

บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) เปิดเผยผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2563 กำไรสุทธิ 1,032.88 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.77 บาท เพิ่มขึ้น 22.52% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 843.05 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.65 บาท

ขณะที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,100.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 228.73 ล้านบาท หรือ 26.23% จากงวดปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยจำนวน 2,085.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 427.69 ล้านบาท หรือ 25.81% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้จาก 34,145.51 ล้านบาทในสิ้นไตรมาส 1/2562 เป็น 40,206.99 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 เพิ่มขึ้น 17.75% ซึ่งการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อมาจากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องตามนโนบายของกลุ่มบริษัท

นอกจากนี้มีรายได้อื่น 699.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 209.04 ล้านบาท หรือ 42.61% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 995.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 185.25 ล้านบาท หรือ 22.88% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหลักใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากากรขยายสาขา

ส่วนการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS9) มาถือปฏิบัติ ทำให้ระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทเปลี่ยนแปลง ไตรมาส 1/2563 NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.99% ขณะที่มาตรฐานเดิมจะอยู่ที่ 3.82% และไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 3.96% ตามมาตรฐานเดิม โดยอัตราส่วนระดับหนี้ NPL เกิดจากการตัดหนี้สูญที่เข้มข้นกว่าเดิมโดยตามมาตรฐาน TFRS9 หนี้สูยจะตัดได้ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงการจัดชั้นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ตาม TFRS9 กำหนดให้บริษัทต้องสำรองสำหรับลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เงินต้นและดอกเบี้ย) ตามจำนวนที่ได้จากการคำนวณตาม Expected Credit loss (ECL Model) ทำให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทในไตรมาส 1/2563 ตามมาตรฐาน TFRS อยู่ที่ 194 เมื่อเทียบกับมาตรฐานอยู่ที่ 140 และไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 60 ตามมาตรฐานเดิม

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) เริ่มมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ลูกค้าของบริษัทและประชาชนทั่วไปในวงกว้าง ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมในช่วงระบาด COVID-19 กับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะและผู้ให้บริการทางการเงินอื่น รวมถึงรัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินการระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ และบริษัทย่อยได้มีแนวทางในการช่วยเหลือลูหนี้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาด COVID-19 ตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะมีลูกหนี้มาขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งบริษัทและบริษัทย่อยได้ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับเหตุการณ์ดังกล่าว