HoonSmart.com>>ลุยเก็งกำไร EIC นักธุรกิจรายใหญ่ร่วมลงทุน เพียงเดือนเศษ ราคาพุ่งกระฉูด 550 % มูลค่าซื้อขายพองผิดปกติ ลือสะพัด ซื้อลิขสิทธิ์ “โดมิโน่ส์ พิซซ่า” ในไทย ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1/63 ขาดทุน 30 ล้านบาทเศษ
บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทคนิคส์ ( EIC ) ภายหลังจากเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก “ เศษธะพานิช ถือหุ้นใหญ่ 23.43 % , น.ส.วลีรัตน์ โกวิทานุพงศ์ 17 % และนายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ถือหุ้น 15 % แล้ว ยังได้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เข้ามาเสริมธุรกิจขายชิ้นส่วนอะไหล่อีเล็คโทรนิคส์ ซึ่งธุรกิจใหม่นี้ สามารถทำกำไรขั้นต้นได้มากถึง 49 % ขณะที่ธุรกิจเดิม ทำกำไรขั้นต้นได้เพียง 16 % ของราคาขายเท่านั้น
เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ และธุรกิจใหม่ รวมทั้งเร็ว ๆ นี้กำลังจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น “ วาว แฟคเตอร์ “ ชื่อย่อใหม่ “W”
ทุกอย่างใหม่หมด ราคาหุ้นก็ปรับใหม่ จากหุ้นที่เคยต่ำเตี้ย 0.02 บาท หรือ 2 สตางค์ เมื่อปลายเดือนมี.ค. เพียงเดือนครึ่ง ราคาพุ่งทะยานขึ้นมาทำนิวไฮ 0.13 บาท เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้น 0.11 บาท คิดเป็น 550 % จำนวนหุ้นที่บางวันแทบไม่มีวอลุ่มซื้อขาย ขึ้นมาซื้อขายหลักล้านหุ้น และขึ้นไปถึงหลัก 100-200 กว่าล้านหุ้น ทั้งราคาและมูลค่าซื้อขาย ปรับตัวผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ
วงการตลาดทุน เล่าขานกันว่า มีนักลงทุนรายใหญ่ เข้ามาเก็บหุ้น รวมทั้งนกรู้หลายคนผสมโรงเข้ามาเก็งกำไร โดยมี 2 ปัจจัยหลักสนับสนุนคือ การเทิร์นอะราวน์จากธุรกิจอาหาร และ การซื้อลิขสิทธิ์ โดมิโน่ส์ พิซซ่า ในประเทศไทย ซึ่งคาดการดีลการเจรจา ใกล้จบ
ปัจจุบัน EIC เป็นเจ้าของร้านอาหารอาทิ “คาโกะโนยะ”, ” เลอเบิฟ เดอะสเต็ก แอนด์ ฟรายบิสโทร” , Crepes and Co , ร้านเบเกอรี่ อาทิ ฺBAKE , Zaku Zaku , Rapl (แรปเปิ้ล) ฯลฯ
โดมิโนส์ พิซซ่า เป็นแบรนด์ต่างประเทศชื่อดัง มีตลาดที่ใหญ่มาก ถือเป็นพิซซ่า ระดับพรีเมี่ยม จึงมีนักธุรกิจไทย ตระกูลศรีชวาลา ซื้อลิขสิทธิ์มาทำตลาดในไทย มีสาขากว่า 20 สาขา เป้าหมายการซื้อโดมิโน่ส์ พิซซ่า นั้น EIC จะทำตลาดระดับกลาง ให้เป็นพิซซ่าชุมชน ที่ลงมาจับออฟฟิศสำนักงาน นักศึกษา ทำการตลาด Delivery
แหล่งข่าวระบุว่า การเปลี่ยนธุรกิจใหม่ของ EIC มีผลให้ผลประกอบการไตรมาส 1 และอาจต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ขาดทุน ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งสำรองธุรกิจ เซมิคอนดัคเตอร์ ที่อยู่ระหว่างการนำธุรกิจเก่าออกไป นำธุรกิจใหม่เข้ามา ซึ่งการตั้งสำรองต้องล้างให้หมดโดยเร็ว ไม่ให้มีเชื้อของเก่าอยู่ เป็นการล้างบ้านให้สะอาดให้จบ เพื่อให้การอาบน้ำแต่งตัวใหม่ โชว์การเป็นหุ้นเทิร์นอะราวน์
” ถือเป็นเคสคลาสสิค ของการเทคโอเวอร์ ที่ต้องรีบชะล้าง ตั้งสำรองของเก่าให้หมดและเร็วที่สุด ไม่ว่าจะขายกิจการเดิมต่ำกว่าบุ๊ค เท่าบุ๊ค ก็ต้องไลท์ออฟ ออกไป จึงไม่แปลกที่ EIC จะเห็นการขาดทุนต่อเนื่องไปถึง ไตรมาส 2 ” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ EIC ผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ขาดทุนสุทธิ 30.45 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้น ต่ำกว่า 50 % ของทุนชำระแล้ว และเข้าเกณฑ์เครื่องหมาย C