CPALL กำไร 5,645 ลบ.ลด 2% เซเว่นฯ ยอดขายร่วง 4%

HoonSmart.com>> “ซีพี ออลล์”  ได้รับผลกระทบจากโควิด ไตรมาส 1/63 กำไรสุทธิ 5,645 ล้านบาท ลดลง 2.15%  ยอดขายเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านเดิมวูบ 4% เฉลี่ย 78,872 บาท/ร้าน/วัน คนเข้าน้อยลงเฉลี่ย 1,122 คน ส่วน KCE กำไรพุ่งแรง 58% เป็น 424.82 ล้านบาทนักวิเคราะห์คาดผ่านจุดสูงไปแล้ว ส่วน PTT บล.ทรีนีตี้คาดไตรมาส 2 พลิกมีกำไรสุทธิ 15,000 ล้านบาท บล.หยวนต้า-คิงส์ฟอร์ดคาดผลงานไม่โดดเด่น ด้านดัชนีหุ้นขึ้นทดสอบ 1,300 จุดรอบใหม่ขึ้นสวนทางภูมิภาค นักลงทุนหันไปเล่นหุ้นกลาง-เล็ก 

บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/ 2563 กำไรสุทธิ 5,645.11 ล้านบาท ลดลง 2.15% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 5,769.18 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 145,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% ปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจร้านสะดวกจากสาขาใหม่ที่เปิดดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา และรายได้จากการขายและบริการของธุรกิจศูนย์( สยามแม็คโคร)

” ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 82,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% แต่ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมลดลง 4.0% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน เท่ากับ 78,872 บาท ยอดซื้อต่อบิลประมาณ 70 บาท ขณะที่จํานวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,122 คน ลูกค้าลดลงเนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคจากรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบตั้งแต่เดือนก.พ.และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค.ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

ทั้งนี้ ในปี 2562 ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมเติบโต 1.7% โดยมียอดขายเฉลี่ย 82,928 บาท มียอดซื้อต่อบิลประมาณ 70 บาทในขณะที่จํานวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 1,187 คน

ส่วนกําไรขั้นต้นจากการขายและบริการ 31,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% ได้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจสยามแม็คโครช่วย แต่อัตราส่วนกําไรขั้นต้น เท่ากับ 22.1% ลดลงจาก 22.3% เนื่องจากสัดส่วนกําไรขั้นต้นที่มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อลดลง

ด้านราคาหุ้น CPALL ปิดที่ 73.50 บาท -0.50 บาท หรือ -0.68% มูลค่าการซื้อขาย 2,649.03 ล้านบาท

ขณะเดียวกันมีรายการซื้อขายบิ๊กล็อตหุ้น CPALL จำนวน 5,994,400 หุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 73.28 บาท มูลค่าการซื้อขาย 439.24 ล้านบาท และมีบิ๊กล็อต CPALL-F 10,514,600 หุ้น ราคาเฉลี่ย 73.44 บาทต่อหุ้น มูลค่าการซื้อขาย 772.20 ล้านบาท

บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 424.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.17% จากที่มีกำไรสุทธิ 268.58 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน มียอดขายรวม 3,259.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145.8 ล้านบาทหรือ ประมาณ 4.68% จากจำนวน 3,113.9 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 23.99 % สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนและไตรมาส 4 ที่ผ่านมา หลังจากโรงงานผลิต PCB ทุกแห่งใช้กําลังการผลิตได้เพิ่มขึ้น อัตราของเสียก็ค่อยๆ ดีขึ้น พร้อมดำเนินกิจการลดต้นทุน ค่าเงินบาทอ่อนลง ราคาทองแดงลดลง
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดว่ากำไรของ KCE ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในไตรมาส 1/2563 ขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง

สำหรับบริษัทปตท.(PTT) ที่พลิกมาขาดทุน 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1/2563 บริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ คาดแนวโน้มไตรมาส 2 ฟื้นกลับมามีกำไรที่ราว 15,000 ล้านบาท จากธุรกิจธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี

บล.หยวนต้า แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 33 บาท หลังจากไตรมาสแรกขาดทุนใกล้เคียงกับคาดการณ์ 1,300 ล้านบาท พลิกเป็นขาดทุนสุทธิครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2558

แนวโน้มไตรมาส 2 ยังไม่โดดเด่น เพราะธุรกิจต้นน้ำ (สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) ยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากปริมาณขาย และราคาขายก๊าซที่ลดลง  ธุรกิจก๊าซ-น้ำมันยังถูกกดดันจากราคาขายที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันเตา-ปิโตรเคมี และปริมาณขายมีแนวโน้มลดลงตามความต้องการใช้ก๊าซจากภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และการปิดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซที่ 1 จำนวน 25 วันในช่วงเดือนมิ.ย.

” คงคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 29% จากปี 2562 ด้วยมุมมองที่ประเมินว่าราคาน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความน่าสนใจของผลประกอบการจึงน่าจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังหนุนจากต้นทุนก๊าซที่ลดลง ในระยะสั้นหุ้นโรงกลั่น-ปิโตรเคมีที่ได้ประโยชน์ภายใต้ราคาน้ำมันอยู่ระดับต่ำจะมีความน่าสนใจเข้าลงทุนมากกว่า “บล.หยวยต้าระบุ

บล.คิงส์ฟอร์ด แนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” ราคาเป้าหมาย 38 บาท/หุ้น และยังมีประเด็นบวกรออยู่จากการ Spin-off บริษัท PTTOR คาดไตรมาส 2/2563 พลิกกลับมากำไร  ผลการดำเนินงานหลักยังไม่โดดเด่นนัก

” เราปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 2563-2564 ลงจากเดิม -33% และ -20% อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 40% และ 7.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% ตามลำดับ สะท้อนแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ลดลงในปี 2563 และการปรับปรุงประมาณการของบริษัทลูก ได้ทำไปก่อนหน้า”บล.คิงส์ฟอร์ดระบุ

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ตลาดหุ้นลดลงรุนแรง นักลงทุนรายย่อย มีสัดส่วนซื้อขายอยู่ที่ 37% ในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 48% เห็นได้ว่านักลงทุนในประเทศเริ่มลงทุนมากขึ้น เพิ่มขึ้นถึง 5.9 หมื่นบัญชี ใช้โอกาสที่หุ้นปรับลงเข้ามาลงทุนระยะยาว และสัดส่วนเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับนักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 38% ส่วนหุ้นใหม่ คาดว่าจะเริ่มเห็นการกลับมาของการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้ประชาชน (IPO)ในช่วงไตรมาส 3

สำหรับการปรับเกณฑ์พักการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเพิ่มขึ้นสูงสุด (Ceiling) หรือลดลงต่ำสุด (Floor) 15% และเกณฑ์การขายชอร์ต (Short Selling) โดย 2 เกณฑ์หลังจะมีผลถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 ทางตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างพิจารณาถึงการต่ออายุ คาดว่าจะเปิดเผยความชัดเจนก่อน 30 มิ.ย. หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว จะเปิดรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) รายละเอียดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดหุ้นต่อไป รวมถึงหารือถึงโอกาสที่จะใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการถาวรด้วย

“โปรแกรมเทรดดิ้งที่ปัจจุบันให้ใช้เพียงนักลงทุนสถานบัน โดยได้มีความเห็นว่าจะเริ่มเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยได้ใช้โปรแกรมให้สะดวกขึ้น และง่ายขึ้น เนื่องจากอยากให้นักลงทุนทุกประเภท เข้าถึงตลาดหุ้นได้เหมือนๆกัน และพยายามส่งเสริมให้ทางบล. ให้บริการโปรแกรมเทรดดิ้งมากขึ้นด้วย สำหรับภาพรวมการซื้อขายจากโปรแกรมเทรดดิ้งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือประมาณ 15-20% ของการซื้อขายรวมในตลาดหลักทรัพย์” นายภากร กล่าว

ด้านตลาดหุ้นวันที่ 12 พ.ค. ดัชนีหุ้นขึ้นไปทดสอบระดับ 1,300 จุด อีกครั้งก่อนที่จะปิดที่ 1,299.69 จุด +12.39 จุด หรือ +0.96% มูลค่าการซื้อขาย 59,394.53 ล้านบา ท ต่างชาติยังคงขายสุทธิ 3,205 ล้านบาทและสถาบันซื้อสุทธิ 2,996 ล้านบาท ปรับตัวดีกว่าภูมิภาค

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นขึ้นไปทดสอบแถวบริเวณ 1,300 จุด โดยหุ้นขนาดเล็ก เพิ่มขึ้น 1.25% และหุ้นขนาดกลางปรับเพิ่มขึ้น 1.3% มากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.62% นำโดยกลุ่มเกษตรและอุตสาหรกรรมอาหาร และน้ำมันดิบ ที่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวในระยะสั้น