SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 11-15 พ.ค. 2563
“หลายประเทศเริ่มดำเนินการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown อาจส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกค่อยๆฟื้นตัวอย่างมีข้อจำกัด”
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวแย่ลง อย่างไรก็ตามธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกยังคงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินและการคลังอย่างเต็มกำลัง หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ประกอบกับหลายประเทศเริ่มดำเนินการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown และมีแผนการที่จะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง อาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกค่อยๆฟื้นตัวอย่างมีข้อจำกัด
จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการครั้งแรกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 3.8 ล้านราย ส่งผลให้ผู้ว่างงานสะสมอยู่ที่ 30 ล้านรายในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นจำนวนที่สูงกว่าตลาดคาดเล็กน้อยที่ 3.5 ล้านราย แต่ชะลอลงจากสัปดาห์ก่อนที่ 4.4 ล้านราย ซึ่งนับเป็นการชะลอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 คาดว่าตัวเลขผู้รับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกจะชะลอตัวลงต่อเนื่องหลังหลายๆ รัฐเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่างๆในเดือน พ.ค. ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือภาครัฐทั้งการแจกเงินและโครงการ Paycheck Protection Program (PPP) จะช่วยหนุนธุรกิจขนาดเล็กและพยุงการจ้างงาน ได้
ECB ผ่อนคลายเงื่อนไขโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ TLTRO3 และออกโครงการเงินกู้พิเศษ PELTRO ขณะที่คงดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการ QE ตามที่คาด โดยการผ่อนคลายเงื่อนไขในโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ TLTRO3 จะเริ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 2020 ถึง มิ.ย. 2021 โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยที่จะคิดกับธนาคารพาณิชย์ลงเป็น -1.0 % ถึง -0.5% จากเดิม -0.5% ถึง 0.1% ขณะที่ออกโครงการเงินกู้พิเศษ PELTROs เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบการเงิน พร้อมทั้งคงมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) คือ 1) เข้าซื้อสินทรัพย์ที่อัตรา 2 หมื่นล้านยูโร ต่อเดือน 2) เข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมมูลค่ารวม 1.2 แสนล้านยูโร จนถึงสิ้นปี 3) ดำเนินมาตรการ QE พิเศษ (PEPP) มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร
ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีตัดสินว่ามาตรการ QE ของ ECB ขัดหลักเกณฑ์ของสนธิสัญญา โดยสนธิสัญญากำหนดว่า EU ควรกระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และต้องคำนึงถึงผล กระทบ ซึ่งสหภาพยุโรปจะให้เวลา ECB เป็นระยะเวลา 3 เดือนในการรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงความจำเป็นของการดำเนินมาตรการ อย่างไรก็ตามระหว่างนี้ ECB จะยังคงสามารถดำเนินตามนโยบายการเงินที่ประกาศต่อไปได้
ดัชนี PMI ภาคการผลิตอย่างเป็นทางการเดือน เม.ย. ของโลกปรับตัวลดลง -7.8 จุด เป็น 38.9 จุด ซึ่งลดลงแรงต่อเนื่อง ขณะที่ในเกือบทุกประเทศหลักทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากผลกระทบ COVID-19 นำโดย 1) สหรัฐฯ ดัชนีโดย ISM ปรับตัวลดลง -7.6 จุด เป็น 41.5 จุด 2) ยูโรโซน ดัชนีปรับตัวลดลง -11.1 จุด เป็น 33.4 3) จีน ดัชนีโดย Caixin ปรับตัวลดลง -0.7 จุด เป็น 49.4 จุด 4) ญี่ปุ่น ดัชนีปรับตัวลดลง -2.9 จุด เป็น 41.9 จุด
GDP ไตรมาส 1 ปี 2020 ของยุโรป หดตัว -3.8% QoQ และ -3.3% YoY ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จาก COVID-19 เนื่องจากการใช้มาตรการ Lockdowns เพื่อลดการระบาดของ COVID-19 ซึ่งประเทศหลักอย่างอิตาลีและสเปนมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับ 3 และ 2 ของโลก ตามลำดับ ทำให้ประเทศดังกล่าวใช้มาตรการคุมเข้มอย่างมาก และกดดันเศรษฐกิจไตรมาส 1 โดยการฟื้นตัว
กลยุทธ์การลงทุน
“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET ENERGY SECTOR INDEX (SCBENERGY)
“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ออยล์ (SCBOIL)
“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยอิควิตี้ (SCBTEQ)
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)