ฟิทช์ปรับแนวโน้ม “นอนแบงก์” เป็น “ลบ” ผลกระทบโควิด-19

HoonSmart.com>> “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ปรับแนวโน้มของสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานสำหรับสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-Bank Financial Institutions) ในประเทศไทยเป็น “แนวโน้มลบ” เนื่องจากความปั่นป่วนของภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส

ฟิทช์ คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) จะหดตัวลง 5.1% ในปี 2563 ซึ่งจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 การชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารในประเทศไทยมีแนวโน้มที่อ่อนแอลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของฟิทช์ก่อนหน้านี้และแม้ว่าฟิทช์จะคาดว่ศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นปี 2564

บริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการภาวะตลาดทุนในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวแย่ลงและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับลดลง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ และธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและความมั่งคั่ง (wealth management) ปรับตัวลดลง รายได้จากค่านายซื้อขายหลักทรัพย์ แม้ที่ผ่านมาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เนื่องจากปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัว นอกจากนี้ระดับความผันผวนที่สูงมากของตลาดทุนอาจส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากเงินลงทุนในระดับที่สูงมากกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทได้

บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลและลีสซิ่ง (consumer finance and leasing) กำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินทรัพย์ จากสภาวะการดำเนินงานที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก มาตรการผ่อนปรนในด้านการจัดชั้นลูกหนี้และกการผ่อนผันการชำระคืนหนี้เป็นการชั่วคราวจะช่วยให้ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายของการเผื่อหนี้สูญที่จะเพิ่มขึ้นชะลอตัวออกไปได้บ้าง

แต่อย่างไรก็ตามบริษัทน่าจะมีหนี้เสียและค่าใช้จ่ายการเผื่อหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นหลังจากมาตรการดังกล่าวเริ่มสิ้นสุดลง ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 80% ของ GDP ณ สิ้นปี 2562 บ่งชี้ว่าความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หากลูกหนี้ได้รับผลกระทบเชิงลบเป็นระยะเวลานาน

ในขณะเดียวกันความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ส่งผลให้ความเสี่ยงในการระดมเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น มีผลให้บริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมากขึ้น เนื่องจากไม่มีแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพและมีสัดส่วนอายุของหนี้สินและอายุสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกัน (maturity mis-match)

สถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารที่มีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง โดยมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ฐานะเงินกองทุนที่สูง และมีฐานะสถาพคล่องที่ดี น่าจะสามารถรับมือกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่มีความท้าทายสูงขึ้นได้ดีกว่า ทั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารในประเทศหรือเป็นบริษัทลูกของบริษัทต่างประเทศ ในขณะที่อันดับเครดิตของสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารที่ประกอบธุรกิจด้วยตัวบริษัทเอง (ไม่มีบริษัทแม่) ที่ฟิทช์ทำการจัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่ ถูกปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ซึ่งสะท้อนถึงแรงกดดันในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ การปรับตัวลดลงอย่างมากของความสามารถในการทำกำไร การไม่มีสัญญาณที่แสดงถึงความสามารถในการฟื้นตัวของผลประกอบการภายในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า และการปรับตัวลดลงของความสามารถในการรองรับความเสี่ยง ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้อันดับเคริตของบริษัทถูกปรับลดอันดับลงได้

ในส่วนของบริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลและลีสซิ่งที่ไม่มีบริษัทแม่ที่มีฐานะทางการเงินที่ดีให้การสนับสนุน อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดอับดับลงได้หากมีการปรับตัวแย่ลงอย่างมากของคุณภาพสินทรัพย์และฐานะทางการเงินของบริษัทไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาในระดับก่อนเกิดเหตุวิกฤตการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือหากบริษัทไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการระดมเงินได้