รายงานพิเศษ : “ไซแมท” ทางตันที่ต้องหาทางออก???

HoonSmart.com>>“ไซแมท” ทางตันที่ต้องหาทางออก ???  ความขัดแย้งของผู้ถือหุ้น นำมาซึ่งสภาพคล่องทางการเงิน หลังจากหุ้นกู้ 200 ล้านบาท ถูกระงับจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น , การหางานใหม่มาต่อยอดหลังจากหลัง 5 ปีที่หมดสัญญาหลังการขายกับ “เน็ตห่างไกล” เพื่อให้รายได้เติบโตยั่งยืน มีปันผลให้ผถห. รวมไปถึงผู้รับเหมารายย่อย ฯ จับตาการแย่งหุ้น การรวมหุ้น เพื่อปลดล็อกปัญหาการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม 

 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีปัญหา มักหนีไม่พ้นเวียนวนอยู่ไม่กี่เรื่อง ถ้าไม่ใช่ 1.เรื่องทุจริตของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ จนสร้างความเสียหายให้กิจการ  ก็เป็น 2. เรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน  ซึ่งหนีไม่พ้น 2 เรื่องนี้ นำมาซึ่งความเสียหายต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นรายย่อย นับไม่ถ้วน ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน บริษัทแล้ว บริษัทเล่า นับไม่ถ้วน

อาทิ บริษัท โพลาริส แคปปิตอล (POLAR)  ทุจริตกันเป็นทอด ๆ  จนบริษัท เหลือแต่ซาก ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย ใช้มาตรา 100 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (พ.ศ. 2535) เข้าไปกู้ซาก, บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น (IFEC) หมอผถห.ใหญ่ เล่นกับราคาหุ้น  กระทั่งนำมาซึ่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของผถห. ทิ้งซากให้ “ทวิช เตชะนาวากุล” ผถห. ใหญ่ปัจจุบัน ต้องกลับมากู้ผลประโยชน์ของตัวเอง

บริษัท ไดเมท  สยาม (DIMET)  ความขัดแย้งของ ผถห. ใหญ่ ระหว่าง “ เอื้อวิทยา”  กับกลุ่มเหล็กรายใหญ่ ที่เกาเหลา จากความโลภ และความเชื่อใจ ไม่ไปด้วยกัน ต้องพึ่ง ม.100 เรียกประชุมผถห.รายย่อย 7 พ.ค.นี้

สด ๆ ร้อน ๆ บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT) การประชุมผถห. ที่ผ่านมา สู้กันด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ในการขอมติออกหุ้นกู้ 200 ล้านบาท เมื่อเสียงน้อยกว่า 3 ใน 4 ไม่สามารถออกหุ้นกู้ได้  เพื่อใช้เป็นทุนต่อยอดกิจการ ปัญหาตามมาย่อมมีแน่ และไม่แน่ใจว่า การเพิ่มทุน ทำได้หรือไม่  นอกจากผถห. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องไล่เก็บหุ้นเพิ่ม หรือรวบรวมหุ้นให้ได้มากพอชี้เป็นชี้ตาย ฝ่าทางตัน เพื่อหาทางออกให้ได้ และทางออกอีกทาง คือ การเจรจา เพื่อให้ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง ขายหุ้นออกไป เป็นการยุติปัญหาที่เกิดขึ้น

หากดูผลประกอบการย้อนหลัง ของ SIMAT ดีขึ้นต่อเนื่อง นับจาก “ ทองคำ มานะศิลปะพันธ์ “  ได้ผู้ร่วมทุนใหม่ ที่สำคัญได้งานใหม่ “เน็ตห่างไกล” มูลค่า 2,200 ล้านบาท ปลายปี 2561 และเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 1 / 2562 เป็นต้นมา ผลประกอบการตีตื้นขึ้นมา และดีขึ้นชัดเจนในไตรมาส 3/ 62 ทำให้ปี 2562 กำไรพุ่งพรวด 69 ล้านบาท เทียบปี 2561 ขาดทุนบานตะไท 492 ล้านบาท  ….โครงการเน็ตห่างไกลนี้ จะทำให้ SIMAT เป็นเสือนอนกินรายได้ค่าบำรุง-รักษา เน็ตห่างไกล อีก 4-5 ปี

หลังจากนั้น   “ทองคำ & ไซแมท “ จะต้องหาธุรกิจ อะไร ??? เข้ามาเพื่อเสริมธุรกิจเดิม ให้มีรายได้เป็นกอบ-เป็นกำ ดังเช่นงาน “เน็ตห่างไกล”  ลำพังธุรกิจเดิม ๆ ที่มี กำไรไตรมาส ละ 2-3 ล้านบาท  บางปีก็ขาดทุน ผลประกอบการไม่สม่ำเสมอ ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลผถห.ได้   ซึ่งในการประชุมผถห. วันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้บริหาร รับปากบริษัทจะกลับมาปันผลได้ในปี 2564  จะเป็นหุ้น เป็นเงินสด ต้องคอยตาม

นอกจากเงินปันผล ที่ผถห. ต้องติดตามแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผถห. รายย่อย ไม่ควรละเลยคือ การจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาช่วง ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ มีผู้รับเหมาหลายราย  ใช้เวทีประชุมผถห.  เข้าร่วมประชุม  หลังจากก่อนหน้าทวงถามจากบริษัท ก็ถูกเพิกเฉย มีทางเดียวคือ การซื้อหุ้น SIMAT แล้วใช้เวทีนี้ เจอตัวเป็น ๆ ถามกันซึ่งหน้า กลางที่ประชุมผถห.   ว่าถูกยกเลิกสัญญาจ้าง และปรับผู้รับเหมา 7 ล้านบาท  ปัญหานี้ ผถห. มีความห่วงว่า ถ้าการบริหาร มีปัญหา จะถูกขึ้นบัญชีดำจาก กสทช. ได้

ไม่เฉพาะปัญหากับผู้รับเหมารายย่อย …ผถห. ยังสอบถาม การจัดซื้อ-จัดจ้าง บริษัท เรเดียนห์ โกลบอล เอดีซี (ไทยแลนด์) ที่มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท รับงานมูลค่าหลักร้อยล้านบาท โดยเรเดียนห์ เป็นบริษัทที่รับงานตรงจาก SIMAT แล้วจ้างผู้รับเหมาช่วงอีกทอด ทั้งที่ผู้รับเหมารายย่อย เป็นบริษัทในท้องถิ่น การสร้างและดูแลรักษา ติดตามได้ง่ายกว่า เรเดียนห์ ฯ  และมีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไม !!!! SIMAT ไม่จ้างตรง มายังผู้รับเหมารายย่อย 4-5 ราย   มีเพียงคำตอบจากผู้บริหาร SIMAT ว่า เป็นบริษัทที่ใช้งานกันมานาน

เรื่องราวทั้งหมด ถูกเปิดเผยในที่ประชุมผถห. หลังจากนี้ SIMAT ต้องผ่าทางตัน เพื่อหาทางออกกับปัญหาทั้งหมดให้ได้  ทั้งแนวทางระดมทุนแทนการออกหุ้นกู้ , ความขัดแย้งของผถห. และ ปัญหากับผู้รับเหมา  ต่อไป