“ดร.วโรทัย” ยืนยันบริหารเงิน กบช. พบกันครึ่งทาง เปิดให้บลจ. 3 แห่งร่วมบริหารจัดการ เพื่อประโยชน์สมาชิกกองทุน วัดผลงาน 2 ปี ไม่ดีไม่ต่ออายุ
ดร.วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย และรอการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 1 โดยการบริหารเงินของ กบช. จะเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เข้ามาร่วมบริหารงาน
“ในร่าง พ.ร.บ. ไม่ได้ระบุจำนวน บลจ. ที่จะเข้ามาบริหารเงิน แต่จะไประบุในกฎกระทรวง โดยกำหนดไว้ที่ 3 ราย และแบ่งเงินบริหารรายละเท่าๆ กัน ซึ่งมีระยะเวลาการบริหาร 2 ปี หลังจากนั้นจะประเมินผลงานในการต่ออายุ ถ้าผลดำเนินงานไม่ดีจะหมดวาระไปและเลือกรายใหม่เข้ามา เพื่อให้สมาชิกได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นการพบกันครึ่งทางจากก่อนหน้านี้ที่ กบช. จะบริหารเงินเองทั้งหมด” ดร.วโรทัย กล่าว
น.ส.เนาวรัตน์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในขั้นตอนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีการแสดงความคิดเห็นถึงการบริหารจัดการกองทุนว่า ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ก็จะเกิดประโยชน์ต่อการบริหารจัดการกองทุน กบช.และมีความโปร่งใส โดยในส่วนการบริหารจัดการกองทุน คงจะต้องออกเป็นกฎกระทรวงรองรับในภายหลัง หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านการพิจารณาเพื่อเตรียมบังคับใช้แล้ว
ก่อนหน้านี้ นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และตัวแทนสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ร่วมรณรงค์ “เงินของเรา ไม่ใช่ของรัฐ เราจึงควรมีสิทธิเลือกลงทุนด้วยตนเอง” ใน www.change.org โดยระบุว่า “รัฐไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวในการบริหารจัดการไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะการบริหารจัดการเงินจำนวนมากของประชาชนโดยภาครัฐจะมีความเสี่ยง มีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่โปร่งใสอันเกิดจากการแทรกแซงทางการเมือง หรือเปิดโอกาสให้ใช้อำนาจโดยมิชอบได้โดยง่าย”
ทั้งนี้ กบช. เป็นการสร้างวินัยการออมเงินภาคบังคับให้แก่ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน สามารถมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุในรูปแบบการรับบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุนฯ ซึ่งแตกต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นการออมภาคสมัครใจ
สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับนี้ จะบังคับใช้กับลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่องค์การมหาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยลูกจ้างและนายจ้างจะต้องนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุน ในอัตราเท่ากัน (กำหนดเพดานค่าจ้างการคำนวณเงินสะสมและเงินสมทบที่ 60,000 บาท) โดยในปีที่ 1-3 ปีที่ 4-6 ปีที่ 7-9 และตั้งแต่ปีที่ 10 เป็นต้นไป จะให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายละไม่น้อยกว่า 3% 5% 7% และไม่เกิน 10% ของค่าจ้างตามลำดับ
อย่างไรก็ตามลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ส่งเงินสมทบฝ่ายเดียว โดยเมื่ออายุครบ 60 ปี ลูกจ้างจะได้รับผลตอบแทนเป็นบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือน
ส่วนการเข้าสู่ระบบ กบช. สำหรับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานรัฐที่อยู่ในบังคับของกฎหมาย กบช. กิจการที่ได้รับ BOI กิจการที่ต้องการเข้าระบบ กบช. เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 2 นับจากกฎหมายประกาศใช้ กิจการเอกชนที่มีลูกค้าตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 5 นับจากกฎหมายประกาศใช้และกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 7 นับจากกฎหมายประกาศใช้ โดยคณะกรรมการ กบช.จะเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนและคัดเลือกผู้บริหารเงินในกองทุน แต่ให้ลูกจ้างเป็นผู้เลือกแผนการลงทุน และจะมี Default Policy สำหรับสมาชิกที่ไม่เลือกนโยบายที่กองทุนจัดให้