HoonSmart.com>>คณะกรรมการบริษัทไทยออยล์อนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มเติม 2,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 ด้านฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต TOP เป็น AA- ห่วงหนี้สินสูงหลังลงทุน CFP กว่า 1 แสนล้านบาท กระแสเงินสดสุทธิเป็นลบ ความต้องการสินค้าได้รับผลกระทบจากโควิด อนาคตสดใส
บริษัทไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทเห็นสมควรเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นให้บริษัท ฯ ออกและเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่นักลงทุนท้ังภายในและ/หรือต่างประเทศเพิ่มเติมจำนวน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเทียบเท่า โดยมีระยะเวลาดำเนินการภายในปี2568 เพื่อใช้เป็นเงินทุนระยะยาวในการลงทุน การขยายธุรกิจการชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ตลอดจนการบริหารหนี้สินและ/หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและจำเป็นของบริษัท
ทางด้านบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท ไทยออยล์ เป็น ‘AA-(tha)’ จาก ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ระดับ ‘F1+(tha)’
การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของ TOP จะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากบริษัทฯ มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการ Clean-fuel หรือ CFP ซึ่งมีแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.17 แสนล้านบาท ในปี 2563-2565 ทำให้มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นลบ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่หยุดชะงักจากสถานะการณ์ไวรัส ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่า แม้ว่าจะรวมกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากโครงการ CFP ดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2566-2567 ก็ตาม
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินอาจลดลงช้ากว่าที่คาด หลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งอาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง หากอุปสงค์ ค่าการกลั่นน้ำมัน และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำ หากสภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องหลังปี 2564
ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ TOP จะลดลงในปี 2563 ความต้องการที่ลดลงจะยังคงกดดันค่าการกลั่นในระยะสั้น ถึงแม้ว่าค่าการกลั่นน่าจะดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564-2565 แต่ยังน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2561 และต่ำกว่าระดับที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนโครงการ CFP ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิเพิ่มขึ้นไปสูงกว่า 6 เท่าในปี 2563-2565 (2562 อยู่ที่ 3.7 เท่า) ฟิทช์คาดว่าจะลดลงไปอยู่ประมาณ 3 เท่าในปี 2566 และลดลงต่อหลังจากโครงการ CFP เริ่มดำเนินการ และบริษัทฯ ได้รับเงินจากการขายหน่วยผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่า Energy Recovery Unit (ERU) ที่อยู่ในโครงการ CFP ในปี 2566
ฟิทช์เชื่อว่าการขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบจาก บริษัท ปตท. จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน จะช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ ในปี 2556-2563 ฟิทช์ประมาณการว่า TOP จะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นประมาณ 9 พันล้านบาท จากการขยายเทอมการชำระเงินจาก 30 วันเป็น 60 วันในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ปตท. เห็นชอบที่จะขยายเทอมการชำระเงินได้สูงถึง 90 วันถ้า TOP ต้องการ
CFP เพิ่มศักยภาพธุรกิจ จะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมัน และความสามารถในการผลิตน้ำมันที่มีมูลค่าสูงได้มากขึ้น และสามารถกลั่นน้ำมันดิบชนิดหนักมากขึ้นได้ เพิ่มข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันในฐานะผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยกำลังการกลั่นน้ำมันของ TOP คิดเป็นสัดส่วน 23% ของกำลังการกลั่นน้ำมันของประเทศในปี 2562 ช่วยให้บริษัทฯ บริหารกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและสร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในประเทศ
การขยายสายการผลิตของ TOP ไปยังการผลิตอะโรเมติกส์ น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์สารทำละลาย และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขนส่งปิโตรเลียม การผลิตไฟฟ้า และการบริการ ช่วยกระจายแหล่งรายได้ และลดความผันผวนของอัตราส่วนกำไรจากค่าการกลั่นได้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้าที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กของ TOP ทั้ง 2 แห่ง บริษัทฯ มี EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 17% ของ EBITDA ทั้งหมดในปี 2562 เนื่องจาก EBITDA จากธุรกิจการกลั่นและอะโรเมติกส์ที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้าโดยปกติจะอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 10%ของ EBITDA ทั้งหมด
อันดับเครดิตของ TOP ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของค่าการกลั่น ราคาน้ำมัน และความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไร และกระแสเงินสด อีกทั้ง TOP ยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวด้านการตลาด เนื่องจากยอดขายส่วนใหญ่เป็นการขายให้กับ ปตท. แต่ความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ มีการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ให้กับ ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในการจัดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย
TOP มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 7.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับหนี้สินจำนวน 2.9 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 และแผนการลงทุนโครงการใหญ่ บริษัทยังมีวงเงินกู้กับ ปตท. จำนวน 2 พันล้านบาท วงเงินกู้ที่ไม่สามารถเพิกถอนได้ จำนวนประมาณ 9.7 พันล้านบาทจากสถาบันการเงิน รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดทุน นอกจากนี้ TOP ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่จัดการได้ง่าย โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 15.4 ปี