HoonSmart.com>>ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปรายงานผลงานไตรมาส 1/2563 กำไรร่วงตามคาด ลดนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูช่วย ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 4.8% เป็น 5.5% แต่สินเชื่อลดลง 2% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ตั้งสำรองมากขึ้นตามปกติ จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงชี้นำทิศทางผลประกอบการ
นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2563 มีกำไรสุทธิ 1,483.99 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 1.85 บาท เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,729.60 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 2.16 บาท/หุ้น กำไรลดลง 245.61 ลานบาท หรือ 14.2% โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เฉลี่ย 14.8%
งบการเงินรอบปี 2563 บริษัทเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFR9)และภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควอด-19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ธุรกิจธนาคารได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้มีกำไรสุทธิลดลง แต่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 3,430 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 327 ล้านบาทหรือ 10.6% จากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3.1%เป็น 4,525 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวไปยังกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่ให้อัตราผลตอบแทนในระดับสูง และผลจากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ตามมาตรฐาน TFRS 9
ส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย จำนวน 1,094 ล้านบาท ลดลง 192 ล้านบาทหรือ 15% เป็นผลมาจากการบริหารจัดการที่ดีในภาวะดอกเบี้ยปรับตัวลง และการลดนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจาก 0.46% เหลือ 0.23% ทำให้อัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 6.9% มาอยู่ที่ 7.3% ขณะที่ต้นทุนเงินทุนลดลงจาก 2.1% เหบลือ 1.8% ส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 4.8% มาอยู่ที่ 5.5% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM) เพิ่มขึ้นจาก 4.1% มาอยู่ที่ 4.7% แต่หากไม่รวมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชี NIM เพิ่มขึ้นจาก 4.1% มาอยู่ที่ 4.4%
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 2.1% สาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนของเงินลงทุน ซึ่งเป็นไปตามการวัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL) จำนวน 87 ล้านบาทตามภาวะตลาดทุนที่ลดลง
บริษัทมีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 1,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.75%ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ทั้งนี้มีการตั้งสำรองปกติในระดับที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs)ที่เพิ่มขึ้น จาก 2.40% เป็น 2.56% โดยยังมีสำรองส่วนเกินคงเหลือจากสิ้นปีที่ผ่านมา ประมาณ 2,100 ล้านบาท ทยอยปรับลดด้วยวิธีเส้นตรงทุกไตรมาส เท่าๆกัน เป็นระยะเวลา 2 ปี ปรับปรุงจากแผนเดิมที่คาดจะปรับลดในระยะเวลา 5 ปี คิดเป็นจำนวน 262 ล้านบาท/ไตรมาส ทั้งนี้หากไม่รวมผลกระทบจากการตั้งสำรองพิเศษตามการปรับสมมุติฐานและการทยอยปรับลดสำรองส่วนเกิน บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตในไตรมาสนี้ ประมาณ 472 ล้านบาทอัตราส่วนค่าใช้จ่ายสำรองต่อยอดสินเชื่อเฉลี่ย อยู่ที่ 0.8%
ด้านการดำเนินงาน เงินให้สินเชื่อในไตรมาส 1 อยู่ที่ 237,871 ล้านบาท ลดลง 4,954 ล้านบาทหรือ 2% จากสิ้นปี 2562 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อทุกธุรกิจ ในภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวลง สินเชื่อรายย่อยลดลง 1% เป็น 188,465 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีสินเชื่อรายย่อยสัดส่วนสูงถึง 79.2% สินเชื่อธุรกิจ 14.9% สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 4.9% และสินเชื่ออื่นๆ 1%
ไตรมาส 1 มี NPLs ทั้งหมด 6,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 246 ล้านบาทหรือ 4.25% จากสิ้นปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.40% เป็น 2.56%
“ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คือ เรื่องคุณภาพสินเชื่อ จากตัวเลข NPLs ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การชะลอตัวลงของธุรกิจ กฎเกณฑ์มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มเติมเข้ามา และยังมีความไม่แน่นอนของระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากนี้ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้อาจแตกต่างจากที่เคยคาดการณ์ไว้” นายสุทัศน์ กล่าว
ช่วงที่เหลือของปี 2563 บริษัทยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม 3 ประเด็น ได้แก่ 1) สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีความรุนแรงเพียงใด และการล็อกดาวน์จะใช้เวลานานเท่าใด 2) ผลของมาตรการบรรเทาผลกระทบของโควิด คาดว่าจะส่งผลบวก และ 3) สถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้กลุ่มทิสโก้ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยเน้นคุณภาพสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยธนาคารยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.2% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนด มีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.6% และ 4.6% ตามลำดับ