WHA ชงบอร์ด 27 เม.ย. ปันผลตามมติเดิม 0.0535 บาท/หุ้น

HoonSmart.com>> “ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น” เลื่อนจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรอ COVID-19 คลี่คลาย บอร์ดนัดประชุม 27 เม.ย.นี้ เคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล อัตราหุ้นละ 0.0535 บาท ตามแผนเดิม

จรีพร จารุกรสกุล

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้พิจารณาความจำเป็นในการจัดกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่มกันของคนหมู่มาก เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค แม้ว่าบริษัทฯ ได้เตรียมมาตรการคัดกรองเพื่อความปลอดภัยของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเลื่อนวันและวาระการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 27 เม.ย.2563 โดยบริษัทฯ จะพิจารณากำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่เหมาะสมใหม่ หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการเลื่อนประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ของบริษัทฯ ออกไปไม่มีกำหนด แต่หากสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว คณะกรรมการบริษัทฯ จะพิจารณากำหนดวันประชุม และระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 รวมทั้งพิจารณาวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 (Record Date) ขึ้นใหม่ และจะกำหนดแจ้งวันให้ผู้ถือหุ้นทราบต่อไป ส่วนการเลื่อนการประชุมในครั้งนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันว่าไม่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 27 เม.ย.2563 นี้ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นตามเงื่อนไขเช่นเดียวกับการจ่ายเงินปันผลประจำปีที่ได้แจ้งไว้ในการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.0535 บาท เพิ่มเติมจากการจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.0815 บาทต่อหุ้น ในเดือนธ.ค.2562

น.ส.จรีพร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับปัญหาโรคระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และวางแผนงานรองรับไว้อย่างระมัดระวัง เชื่อว่าภาพรวมในครึ่งปีแรกของทุกกลุ่มอุตสาหกรรมอาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว ดังนั้นผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับ กลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะพลิกฟื้นขึ้นมาหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

สำหรับภาพรวมธุรกิจในปี 2563 นั้น ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าตอกย้ำความเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจหลัก ๆ ของบริษัทฯ โดยมุ่งขยายธุรกิจทั้งในประเทศและ ต่างประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้ง 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย

บริษัท ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ในปี 2563 ตั้งเป้ายอดเช่าอาคารไว้ที่ 250,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,560,000 ตารางเมตร นอกเหนือจากพื้นที่คลังสินค้าที่มีอยู่ในประเทศไทยและอินโดนีเซียแล้ว บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในเวียดนามด้วย นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ราว 150,000 ตร.ม.

ด้านบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 11 ของกลุ่ม (นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36) ในช่วงปลายปี 2563 และขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่งภายในปี 2566 ส่วนเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน ประเทศเวียดนาม บริษัทฯ มีแผนเร่งเพิ่มยอดขาย โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 2563 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 1,400 ไร่

ส่วนบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) จะเน้น High Value Product เช่น Reclamation Water และ Demineralized Water รวมถึงเสริมพอร์ทด้านพลังงานด้วยนวัตกรรมโซลูชั่นพลังงาน เช่น Smart Microgrid, Peer-to-Peer Energy Trading และ Energy Storage ในขณะที่ธุรกิจการให้บริการโซลาร์รูฟ ท็อป บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้กับลูกค้าทั้งในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ และนอกนิคมฯ จำนวน 31 เมกะวัตต์ ในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีการเซ็นสัญญาไปแล้วกว่า 35 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าปี 2563 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 591 เมกะวัตต์

นอกจากนี้บริษัท ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ตั้งเป้าสนับสนุนการดำเนินงานทุกรูปแบบในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยการเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานสำหรับดิจิทัล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ช่วงปลายปี 2563 จะมีการติดตั้งไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งในประเทศไทย