หุ้นพุ่งแรง6% รัฐอัดฉีดงบ 1.9 ล้านลบ. จับตาบจ.เพิ่มทุนแลกธปท.อุ้มบอนด์

HoonSmart.com>>ข่าวดีใน-ต่างประเทศท่วมตลาดหุ้นระยะสั้น ดัชนีพุ่งกระฉูด 76 จุด ปิดเหนือ 1,214 จุด วอลุ่มแน่นเฉียด 1 แสนล้านบาท ขานรับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯ ยุโรป ไทย เริ่มชะลอ ครม.อัดงบ 1.9 ล้านล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 แบงก์ชาติออกพ.ร.ก.2 ฉบับ เพิ่มสภาพคล่อง SMEs สินเชื่อกลุ่มใหญ่ของแบงก์กสิกรไทยสัดส่วน 34% ธปท.ซื้อหุ้นกู้ชั้นดี ตั้งเงื่อนไขโหด ดอกเบี้ยสูงกว่าตลาด หาแหล่งทุนใหม่  บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะหลีกเลี่ยงกลุ่มแบงก์ -ไฟแนนซ์  มาตรการแบงก์ชาติกดอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวลงค่อนข้างมาก ค่าเงินบาทแข็งปิดที่ 32.73 บาท   

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 เม.ย. 2563 มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะที่  3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1.ออกพระราชกำหนด( พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน เม.ย.นี้ และเริ่มกู้เงินได้เดือน พ.ค.2563

2.ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลนเพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ คือ บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท

3.ออก พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund ( BSF) และให้ ธปท.ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

สำหรับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน นายอุตตมกล่าวว่า กระทรวงการคลังนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 57% ของจีดีพี  แต่ยังไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% ทั้งนี้ พ.ร.ก.กู้เงิน ให้อำนาจกระทรวงการคล้งกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท แหล่งที่มาจะเป็นเงินสกุลบาทเป็นหลัก กำหนดเวลากู้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.2564 ส่วนการใช้เงิน  เช่น วงเงิน 6 แสนล้านบาทใช้ด้านการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่าง กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบอาชีพอิสระ 9 ล้านคน ที่เดิมกำหนดไว้จ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะมีการต่ออายุเป็น 6 เดือน วงเงินรวมรายละ 1.5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 3 หมื่นบาท รวมถึงจะใช้สำหรับมาตรการดูแลเกษตรกร

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธปท. และกระทรวงการคลังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จึงมีมาตรการเพิ่มเติม 4 ส่วนที่สำคัญ คือ
มาตรการที่ 1 การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่อง

ทั้งนี้ ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคาร) แต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต ช่วยให้ SMEs มีเงินสดในมือ รองรับรายจ่ายจำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน ธปท. คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ ธนาคารจะต้องทำงานร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้

ส่วนธุรกิจ SMEs ที่ไม่ได้ประสบกับปัญหาสภาพคล่อง ธปท.แนะนำว่าควรชำระหนี้ตามปกติหรือตามความสามารถ เพราะมาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนกำหนดวันชำระหนี้เท่านั้น ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่ และที่สำคัญ การชำระหนี้ตามปกติจะช่วยให้ธนาคารมีสภาพคล่องที่จะไปดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงได้มากขึ้นด้วย

มาตรการที่ 2 การสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลนให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี  ไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก โดยธปท. จะจัดสรรสินเชื่ออัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ให้ธนาคารวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารนำไปให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศ และมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท  มีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) วงเงินที่ SMEs แต่ละรายสามารถขอกู้ได้จะไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นปี 2562

” 6 เดือนแรก ไม่คิดดอกเบี้ยเพราะรัฐบาลจะรับภาระแทนลูกหนี้ และรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายบางส่วนให้แก่ธนาคารในส่วนที่ปล่อยกู้เพิ่มเติมด้วย กรณีที่หนี้กลายเป็นหนี้เสียเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 ปี โดยจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่ม สำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกิน 60% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท คาดว่ามีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ตามมาตรการที่ 1 ประมาณ 1.7 ล้านราย ซึ่งมียอดคงค้างประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนมาตรการที่ 2 ก็จะมีลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยไม่ครอบคลุมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET และ mai)” นายวิรไทกล่าว

มาตรการที่ 3 มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท โดยธปท.และกระทรวงการคลังเห็นควรจัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (bridge financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563-2564

บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด ต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์หรือการเพิ่มทุนในส่วนของเจ้าของกิจการเอง ต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้งต้องผ่านเกณฑ์และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด และหากผู้ออกมีหลักประกันให้แก่ผู้ถือ ตราสารหนี้ที่กองทุน BSF จะลงทุนในคราวเดียวกัน ต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น

“พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะช่วยให้ ธปท. มีเครื่องมือเพิ่มขึ้นสำหรับช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และมีเครื่องมือที่พร้อมใช้ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้อย่างทันการณ์ ” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

ธปท.ต้องดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความผันผวนที่สูงขึ้นมากในตลาดการเงินโลก ส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดการเงินไทย นักลงทุนบางส่วนได้เทขายตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเป็นช่องทางการออมที่สำคัญของประชาชนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทย มียอดคงค้างประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของจีดีพี หากกลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำงานได้ปกติ หรือผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน การระดมทุนหรือต่ออายุหนี้ (rollover) ของธุรกิจจะทำได้ยาก แม้ธุรกิจที่มั่นคงก็อาจจะไม่สามารถระดมทุนได้ หรือต้องระดมทุนด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จึงมีความเสี่ยงที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้าง เป็นปัญหาเชิงระบบตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ออมเงินผ่านตัวกลางต่าง ๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน อาทิ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมด้วย

มาตรการที่ 4  ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน)จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที

“หากจะเทียบสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 กับปี 2540 นั้น แนวทางที่ ธปท.ได้นำเสนอในขณะนี้ คือเป็นแนวทางที่มองไปข้างหน้า มองไกล และเตรียมเครื่องมือไว้พร้อมใช้เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้ ซึ่งในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หลายธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่  การแก้ปัญหาได้เกิดขึ้นตามในภายหลัง ส่งผลให้มีต้นทุนที่สูงมาก ทั้งต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ และต้นทุนต่อรัฐบาลเอง แต่ในรอบนี้เมื่อ ธปท.มองเห็นปัญหาได้ก่อน จึงได้สร้างกลไกที่ได้เรียนรู้จากประเทศต่างๆ มาเป็นเครื่องมือที่คิดล่วงหน้าไว้สำหรับพร้อมใช้ในอนาคต เมื่อเราเห็นจุดเปราะบางตรงไหน ก็พยายามดับไฟให้ทันและป้องกันไม่ให้ลาม กลไกเรื่องกองทุน BSF และกองทุนที่เข้าไปช่วยดูแลกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ได้ออกไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เป็นหลักการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ที่เข้าไปดูแลไม่ให้ปัญหาลุกลามเป็นลูกโซ่ เป็นการมองไปข้างหน้า ให้มีเครื่องมือเก็บใส่กระเป๋าไว้พร้อมใช้ แต่ถ้าไม่ต้องนำออกมาใช้เลย จะดีที่สุด  โดยไม่ต้องใช้เงินจากสถาบันการเงินเข้ามาร่วมด้วย อีกทั้งไม่มีการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมา” นายวิรไทกล่าว

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่าตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแรง มาจากปัจจัยบวกหลายอย่าง แต่ยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มแบงก์และกลุ่มไฟแนนซ์ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของ ธปท. ที่ทำให้แบงก์พาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงงบไตรมาส1/2563 ยังไม่ดี และกลุ่มพลังงานยังต้องการดูการประชุม OPEC ว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร

แนะนำกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการเยี่ยวยาเงิน 5,000 บาทในวงเงินที่กู้ 1,000,000 ล้านบาท ที่เพิ่มผู้ได้รับสิทธิ์จาก 3 ล้านคนเป็น 9 ล้านคน และขยายระยะเวลาจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน จะทำให้มีกระแสเงินสดเข้าในระบบเศรษฐกิจ แนะกลุ่มอุปโภคบริโภค ได้แก่ BJC มูลค่าเหมาะสม 53 บาท และMAKRO มูลค่าเหมาะสม 39 บาท

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASP) กล่าวว่า  การประชุม OPEC ยังต้องติดตามในวันที่ 9 เม.ย. 63 นี้ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าผลออกเป็นผลบวก มีการลดกำลังการผลิตน้ำมันลง คาดว่าน้ำมันดิบจะสูงขึ้นในกรอบ 30-40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล คาดว่ามีโอกาสถึง40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ถ้าผลการประชุมไม่ลงตัว อาจจะส่งผลต่อกลุ่มน้ำมันที่อาจจะปรับลดลงมา แนะนำลงทุนอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้การลงทุนแนะหุ้น CPALL มูลค่าเหมาะสม 80 บาท