HoonSmart.com>>ฟิทช์ เรทติ้งส์ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิต”พีทีที โกลบอลฯ” เป็น “ลบ”จากมีเสถียรภาพ จัดอันดับหุ้นกู้ชุดใหม่ 15,000 ล้านบาท ที่ระดับ AA+ หวั่นหนี้สินสุทธิเกิน 2 เท่าไม่สอดรับกำไรที่ลดลงเหลือ 1-1.5 หมื่นล้านบาท หายไปมากจาก 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 62 ึ่ดว่าสถานการณ์หนี้จะดีขึ้นในปี 65 ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ลดลง
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษํทพีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ที่ ‘AA+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ ‘F1+(tha)’
นอกจากนี้ ฟิทช์ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ PTTGC มูลค่าไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘AA+(tha)’ เพื่อนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด และใช้สำหรับการลงทุน
การปรับแนวโน้มเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความไม่แน่นอนที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ PTTGC จะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่า ในปี 2564 และหลังจากนั้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่สูงกว่า 2 เท่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน เนื่องจากอุปสงค์ และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อ่อนแอ จากสถานะการณ์โคโรนาไวรัส การขาดทุนมูลค่าสต๊อกน้ำมัน จากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินจะลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 2 เท่าในปี 2565 เนื่องจากกระแสเงินสดที่ปรับตัวดีขึ้น จากกำไรที่มากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิต และอุปสงค์ และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัส และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่า อย่างต่อเนื่อง หากอุปสงค์ และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำ จากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หลังปี 2564 ซึ่งอาจจำกัดการฟื้นตัวของรายได้อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนกำไรฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (อิบิทดา) ของ PTTGC จะลดลงในปี 2563 ที่ไปอยู่ที่ประมาณ 1.0 – 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนแอตั้งแต่ปี 2562 และน่าจะยังคงอ่อนแออยู่ในปี 2563 เนื่องจากจากอุปสงค์ที่ลดลงจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัส การเพิ่มขึ้นของอุปทานจากกำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการขาดทุนมูลค่าสต๊อกน้ำมัน จากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1/2563
อย่างไรก็ตามส่วนต่างของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 เนื่องจากความต้องการใช้กลับมาเพิ่มขึ้น แต่ส่วนต่างน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในปี 2560 และ 2561 นอกจากนี้ความต้องการที่ลดลงจะยังคงกดดันค่าการกลั่นในระยะสั้น ถึงแม้ว่าค่าการกลั่นน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอัตราส่วนหนี้สินจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 คาดว่าบริษัทน่าจะมีกระแสเงินสดสุทธิ เป็นบวกในปี 2564 เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก ค่าการกลั่น และส่วนต่างที่ดีขึ้น ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนของ PTTGC น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 เป็นต้นไป หลังจาก โครงการ propylene oxide และ polyol และโครงการ olefins reconfiguration project (ORP) แล้วเสร็จคาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2563 ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนน่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และลดลงไปสู่ระดับประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 จากระดับสูงสุดที่ 4.1 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ปริมาณการขายของ PTTGC น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทในปี 2564 เป็นต้นไป
PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ส่งผลให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้ผลิตปิโตรเคมีและน้ำมันอื่นๆ ในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ คือก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ และบริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ ปตท. ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้
อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไรและกระแสเงินสด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาแหล่งวัตถุดิบน้อยแหล่ง ส่วนใหญ่มาจาก บริษัท ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัท รับวัตถุดิบส่วนใหญ่จาก ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ในประเทศไทย
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ PTTGC ได้พิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง ของบริษัทที่ ‘aa-(tha)’ ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระดับปานกลางระหว่างบริษัท กับ บริษัทแม่ หรือ ปตท. ธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น โดยรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น คิดเป็นสัดส่วน 28% ของรายได้รวมของกลุ่ม ปตท. ในขณะที่ EBITDA ของธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของกลุ่ม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นประมาณ 28๔ ของกลุ่ม รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในขณะที่ PTTGC มีความสำคัญด้านกลยุทธ์ต่อธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ของกลุ่ม ปตท. เนื่องจากเป็นผู้รับซื้อวัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรายใหญ่ของ ปตท. และ เป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของ ปตท.