HoonSmart.com>>ธุรกิจการบินกระอัก “การบินกรุงเทพ”หยุดบินถึงต.ค. เหลือในประเทศ 7 เส้นทาง สร้างรายได้ 50% มีธุรกิจอื่นหนุน ดิ้นลดต้นทุน ขอวงเงินสินเชื่อ เจรจาปรับตารางหนี้ มีสภาพคล่องเฉียด 1 หมื่นล้านบาท “เอเชีย เอวิเอชั่น” หยุดทุกเส้นทางถึงปลายเม.ย.มีสภาพคล่อง 7,500 ล้านบาท “การบินไทย”จอดเครื่องบิน 69 ลำจากทั้งหมด 82 ลำ หาแนวทางคงสภาพคล่อง สิ้นปีก่อนมีเงินสด 21,663 ล้านบาท แต่มีหนี้สั้น-ยาวรอชำระ 25,230 ล้านบาท “นกแอร์” ลั่นให้บริการปกติ บล.เอเซียพลัสเผยหยุดบินเพื่อลดขาดทุน หากกลับมาบางส่วนไตรมาส 3 ได้ ทั้งกลุ่มโชว์ตัวแดง 21,000 ล้านบาท
บริษัท การบินกรุงเทพ ( BA) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทหยุดบินเส้นทางบินต่างประเทศทั้งหมด 20 เส้นทาง เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-24 ต.ค.2563 ส่วนเส้นทางในประเทศ หยุด 10 เส้นทางจากทั้งหมด 17 เส้นทาง มีผลวันที่ 1 เม.ย.-31ต.ค.2563 โดย 7 เส้นทางที่บินมีการลดจำนวนเที่ยวบินเปลี่ยนฝูงบินเครื่องบินแบบ ATR ในปี 2562 7เส้นทางดังกล่าวสร้างรายได้ 50% นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายและบริการ 15% และเงินปันผลรับ 2%
บริษัทจะมีการลดต้นทุน เช่น ลดเงินเดือนผู้บริหาร-พนักงาน 10-50% พร้อมขอวงเงินสินเชื่อ เจรจาปรับตารางชำระหนี้ ทั้งนี้สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสด และรายการเทียบเท่า 5,273 ล้านบาท เงินลงทุนชั่วคราว 4,046 ล้านบาท ขณะที่มีเงินกู้ยืมระยะสั้น 50 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 582 ล้านบาท
บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) หยุดบินทุกเส้นทาง ในส่วนระหว่างประเทศ หยุดวันที่ 22 มี.ค.-25เม.ย.2563 ในปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสาร 41% ส่วนเส้นทางภายในประเทศ หยุดวันที่ 1-30 เม.ย.2563 จำนวนผู้โดยสาร 59 % โดยผู้บริหารระดับสูง-พนักงานอาวุโสลดเงินเดือน 75-10% สำหรับค่าใช้จ่ายผันแปร 70% หยุดบินช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ระงับการสรรหาพนักงานใหม่ และแสวงหามาตรการลดต้นทุนเพิ่มเติม
ณ สิ้นปี 2562 บริษัท AAV มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น 3,982 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ขายอากาศยานและเช่ากลับ 9 ลำ และขาย 1 ลำ ได้เงินสดสุทธิ ประมาณ 3,600 ล้านบาท ขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนขอเพิ่มเติม มีความสามารถจัดหาสภาพคล่องเพิ่มเติมจากเครื่องบินที่ไม่มีภาระผูกพัน ทบทวนแผนลงทุน อาจจะระงับหรือชะลอการลงทุนในสินทรัพย์มูลค่าสูงอาจระงับการจัดหาเรื่องบินเพิ่มในปีนี้
บริษัทการบินไทย (THAI) ลดเที่ยวบินประจำ (เม.ย.-พ.ค.63) จอดเครื่องบิน 69 ลำจากจำนวน 82 ลำ ยังมีรายได้จากบริการขนส่งสินค้าบางเส้นทาง เส้นทางบินในประเทศให้บริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ธุรกิจอื่นๆ ครัวการบิน คลังสินค้า การบริการภาคพื้นสำหรับสายการบินลูกค้า-ระบบจำหน่ายบัตรโดยสารและสำรองที่นั่ง
บริษัทจะพิจารณาหาแนวทางในการคงสภาพคล่อง
ณ สิ้นปี มีเงินสด 21,663 ล้านบาท แต่มีหนี้สินระยะยาวถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 21,730 ล้านบาทและ เงินกู้ระยะสั้นจากกิจการที่เกี่ยวข้อง 3,500 ล้านบาท
บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) ปฎิเสธข่าวเรื่องบริษัทหยุดบิน ทั้งนี้ เส้นทางบินภายในประเทศ ยังให้บริการตามปกติในทุกเส้นทาง
นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส (ASP) กล่าวว่า กลุ่มการบินหยุดให้บริการ เป็นการลดภาระขาดทุน หากออกบินโดยไม่มีผู้โดยสาร จะมีภาระขาดทุนมากกว่า ซึ่งหากในไตรมาส 3 สามารถเริ่มเปิดสายการบินได้โดยในประเทศ 20% ในต่างประเทศได้ 50% จะส่งผลให้กลุ่มจะได้รับผลกระทบประมาณ 21,000 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนค่อนข้างมาก จึงยังไม่น่าลงทุน รวมถึงยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้สายการทั่วโลกเริ่มเห็นแนวโน้มปิดตัว ได้รับผลกระทบหนัก จากการที่นักท่องเที่ยวหดตัวลง สัญญาณการฟื้นตัวของกลุ่มนี้ยังเป็นไปได้ยาก คาดมีผลกระทบ 3 ไตรมาสเป็นอย่างต่ำ การที่จะทำให้ผลประกอบการไม่แย่คือการปลดพนักงานออก เพื่อลดต้นทุนให้เหลือน้อยที่สุด