ทริสฯ หั่นเครดิต BEC 2 ขั้นเหลือ BBB มองลบ CENTEL-MINT-DTC-GRAND

HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งชำแหละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 3 ระดับ รุนแรง-ปานกลาง-ต่ำ  ล่าสุดประกาศลดเรทติ้ง บีอีซี เวิลด์ เป็น “BBB” จาก “A-” ผลงานอ่อนแอกว่าคาด อีก 12-18 เดือนยังไม่ฟื้น  เผชิญกับความท้าทายในอีก 1-3 ปีข้างหน้า “ประชุม มาลีนนท์”ลาออก ส่วนธุรกิจโรงแรมเจ็บหนักจากล็อกดาวน์ ประกาศเครดิตพินิจ แนวโน้ม “ลบ” โรงแรมเซ็นทรัลฯ บริษัท ไมเนอร์ฯ ดุสิตธานี กองทรัสต์ดุสิตธานี และแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ ฯ อัตราเข้าพักต่ำมาก หวั่นกระทบกระแสเงินสด หากไม่ฟื้นไตรมาส 3 มีสิทธิถูกลดอันดับเครดิต  ห่วง GRAND ปีนี้มีหนี้ต้องชำระ  1,220 ล้านบาท กำลังขอวงเงินแบงก์เพิ่ม

บริษัททริสเรทติ้งวิเคราะห์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม หลังจากรัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดห้างและสถานที่บันเทิงในกรุงเทพฯ ขณะที่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวเข้ามาน้อย ซึ่งภาคท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อจีดีพีประมาณ 20% การบริโภคภายในประเทศก็ลดลง โดยประเมินผลกระทบแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ รุนแรง ปานกลาง และต่ำ ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมการบิน โรงแรม น้ำมันและก๊าซ ส่วนที่มีผลกระทบปานกลาง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม เกษตรและอาหารได้รับผลบน้อย

BEC ถูกลดเรทติ้ง ปีนี้รายได้ร่วง

ต้องลดต้นทุน! เจอความท้าทาย 1-3 ปี 

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา บริษัททริสเรทติ้ง ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ (BEC) มาอยู่ที่ระดับ “BBB” จากเดิมที่ระดับ “A-” โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” ทั้งนี้บริษัทถูกลดเรทติ้งลง 2 ระดับ จาก A- ผ่าน BBB+ มาอยู่ที่ BBB

BEC ดำเนินธุรกิจสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และธุรกิจสื่อใหม่ ถูกทริสฯลดเครดิด สะท้อนถึงผลประกอบการที่ผ่านมาอ่อนแอมากกว่าที่คาด โอกาสฟื้นตัวยังเป็นไปได้ค่อนข้างยากในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า และน่าจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า  ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ยิ่งทำให้การใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาชะลอตัวลง รวมถึงพฤติกรรมของผู้ชมและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสื่อ ส่งผลให้ความสามารถในการสร้างรายได้เป็นไปอย่างจำกัดอีกด้วย

ส่วนทางออกของช่อง 3 ทริสฯมองว่าการลดต้นทุนจะเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น แม้บริษัทจะพยายามลดต้นทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังช้ากว่ารายได้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2563 รายได้จะลดลง 14-16% อยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท บนพื้นฐานรายได้ที่หายไปประมาณ 400 ล้านบาทจากการคืนทีวีดิจิทัลช่อง 28 และช่อง 13 แม้ว่ารายได้บางส่วนจะกลับไปอยู่ที่ช่องหลักคือช่อง 33 ก็ตาม

สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยคาดว่าค่าใช้จ่ายโฆษณารวมทุกสื่อจะลดลง 4.4% เป็น 1.17 แสนล้านบาท และโฆษณาทางทีวีจะลดลงประมาณ 5% มาอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท แต่ทริสฯคาดว่าจะลดลงมากกว่านั้น และโควิดจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและโชว์ที่ต้องถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไปอีกด้วย ขณะที่บริษัทจะเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์และการขายลิขสิทธิ์รายการไปในต่างประเทศ  ส่วนแนวโน้มในปี 2564-2565 ทริสคาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 7,000-7,500 ล้านบาทต่อปี บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 110 ล้านบาทต่อปี จากปี 2563 อยู่ที่ 145 ล้านบาท

บริษัทได้รับประโยชน์จากการยกหนี้ค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลจำนวนประมาณ 1,650 ล้านบาทและได้รับเงินจากการคืนช่อง รวม 820 ล้านบาท ทำให้ภาระหนี้ที่ปรับปรุงแล้วลดลงมาอยู่ที่ 1,200 ล้านบาทในปี 2562 จาก 4,000 ล้านบาทในปี 2561  ทริสฯคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(อิบิทดา)ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 8-9 เท่าในปี 2563 และจะทยอยลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เท่าในช่วงปี 2564-2565

“คาดว่า BEC จะดำรงสถานะสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ดีได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยพิจารณาจากแหล่งที่มาและแผนการใช้เงินทุน ภายใต้สมมติฐานของทริส คาดว่าบริษัทจะมีอิบิทดา 140-200 ล้านบาทต่อปีและจะมีเงินสดและเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นปี 2562 อีกจำนวน 2,800 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระทางการเงินรวม 450 ล้านบาทและมีแผนลงทุนประมาณ 145 ล้านบาท”ทริสระบุ

บริษัท บีอีซีเวิลด์ แจ้งว่า นายประชุม มาลีนนท์ รองประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ของลาออกจากตำแหน่งกรรมการ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563

มอง “ลบ” ธุรกิจโรงแรม ลูกค้าหายวับ

จับตากระแสเงินสด ตุนเงินจ่ายหนี้ 

สำหรับธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด ทางบริษัททริสฯได้ประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “ลบ” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ ของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บริษัทดุสิตธานี (DTC) กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DREIT) และบริษัทแกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) เพราะอัตราการเข้าพักจะลดลงอย่างรุนแรงจากมาตรการของภาครัฐที่ห้ามและจำกัดการเดินทางของประชาชน ในอนาคตทริสฯอาจปรับลดอันดับเครดิต/แนวโน้มหากเชื่อว่าอุตสาหกรรมโรงแรมจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ได้รับผลกระทบจากทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหาร มีแนวโน้มที่จะกดดันอย่างหนักต่อรายได้และกระแสเงินสดอีกหลายเดือน  สร้างความตึงเครียดให้แก่สภาพคล่องในระยะใกล้ อิบิทดามีแนวโน้มลดลงอย่างมากในปี 2563 ทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่ออิบิทดาสูงขึ้นอย่างมาก หากยืดเยื้อ ก็มีความเป็นไปได้ที่อัตราส่วนจะเกินกว่าเกณฑ์ที่ทริสจะต้องปรับลดอันดับเครดิตลงในปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมสภาพคล่องไว้รองรับแล้วจำนวนหนึ่ง มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปีนี้ เป็นเงินกู้ยืมระยะยาว  700 ล้านบาทและหุ้นกู้อีก 800 ล้านบาท บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 2,200 ล้านบาทและวงเงินกู้ที่พร้อมเบิกใช้อีกประมาณ 1,400 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอวงเงินกู้เพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน แม้ว่าหุ้นกู้มีเงื่อนไขให้ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 2 เท่า โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วน 0.55 เท่า เชื่อว่าบริษัทเตรียมพร้อม สามารถควบคุมได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงกลางปี 2563

ทางด้านบริษัท ไมเนอร์ฯกิจการโรงแรมทั่วโลกของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน  แต่ระดับของความรุนแรงนั้นยังยากที่จะประเมินได้ในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์ยังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว บริษัทปิดการดำเนินกิจการโรงแรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตลาดหลักคือประเทศสเปนและอิตาลี  คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีกหลายประเทศในอีกหลายสัปดาห์สำหรับธุรกิจร้านอาหาร แม้ว่าจะมีการปิดร้านอาหารเป็นการชั่วคราวในประเทศจีน รวมถึงการปิดส่วนการนั่งรับประทานอาหารในร้านในประเทศไทยและออสเตรเลีย แต่บริษัทก็มีรายได้ชดเชยบางส่วนมาจากบริการจำหน่ายอาหารแบบนำกลับไปรับประทานที่บ้านและเดลิเวอรี่

ในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 1.23 แสนล้านบาท มาจากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง  76% ของรายได้รวม ตามมาด้วยธุรกิจร้านอาหาร 20% และธุรกิจจัดจำหน่ายและรับจ้างผลิต  ทริสฯคาดว่ารายได้จะลดลงเป็นอย่างมากในปี 2563 บริษัทใช้มาตรการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ แต่ความรุนแรงของผลกระทบต่อสถานะทางการเงินยังมีความไม่ชัดเจน หวังว่าบริษัทจะบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำรงเงินสดไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสดในมือรวม 1.3 หมื่นล้านบาท วงเงินสินเชื่อจากธนาคาร 3.8 หมื่นล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนของ NH Hotel Group อีกจํานวน 250 ล้านยูโร คาดว่าจะช่วยเสริมสภาพคล่องในระยะหลายเดือนข้างหน้าได้

อย่างไรก็ดี รายได้ที่ขาดหายไปเป็นเวลายาวนานจะส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขของเงินกู้และหุ้นกู้ที่กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับ 1.75 เท่า ซึ่งในปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.3 เท่า

ส่วนบริษัท ดุสิตธานี ทริสมองสถานะการเงินของบริษัทที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงจากธุรกิจโรงแรม คาดรายได้และกระแสเงินสด จะได้รับผลกระทบอย่างมากในปี 2563  ทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น จากเดิมที่จะเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วจากการที่บริษัทกำลังลงทุนในโครงการ Mixed-use นอกจากนี้ กระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการขายโครงการที่อยู่อาศัยในโครงการดังกล่าว จะถูกนำมาใช้สนับสนุนการก่อสร้างโครงการอาจมีความล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่การก่อสร้างยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทริสฯจึงมีมุมมองว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยิ่งเพิ่มสูงกว่าระดับที่คาด ถ้าหากบริษัทไม่สามารถขายสินทรัพย์บางรายการออกไปได้ตามที่วางแผนไว้

ทริสฯหวังว่าดุสิตธานีจะบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเก็บรักษาเงินสดไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน บริษัทมีเงินสดในมือรวม 2,200 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562  จะช่วยสนับสนุนสภาพคล่อ’ไปได้จนผ่านไตรมาส 2  และบริษัทกำลังเจรจากับธนาคารเพื่อเปลี่ยนวงเงินกู้ระยะสั้นให้เป็นระยะยาว รวมทั้งการขอวงเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อเป็นแผนสำรอง

กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี  ธุรกิจโรงแรมกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก รายได้ของทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้กองทรัสต์จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานที่หยุดชะงักในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและต่อไปในระยะหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้บริษัทมีสัญญากับดุสิตธานี ชำระค่าเช่าคงที่สำหรับโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่ และโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน รวม 205 ล้านบาทต่อปี และชำระค่าเช่าคงที่สำหรับโรงแรม ดุสิตธานี มัลดีฟส์ ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หากมีเหตุสุดวิสัยตามเงื่อนไขสัญญา บริษัทดุสิตธานีอาจขอเลื่อนการชำระค่าเช่าออกไปได้ จะทำให้รายได้หลักของกองทรัสต์หยุดชะงัก

ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีเงินสดในมือรวม 55 ล้านบาท และมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในอีกหลายเดือนข้างหน้า

GRAND ได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากอัตราการเข้าพักโรงแรมที่คาดว่าจะลดลงอย่างมาก ประมาณ 50% ในเดือนก.พ. เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราประมาณ 77% ในปี 2562 ทริสคาดว่าจะลดลงอย่างมากในครึ่งหลังของเดือนมี.ค. เป็นต้นไป และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน จะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อรายได้และกระแสเงินสด  อีกทั้งจะกดดันสภาพคล่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

“บริษัทมีหนี้สินที่สูงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 66% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่ออิบิทดา 11.5 เท่าในปี 2562  เป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการโรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน และการลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ทริสคาดว่าในปี 2563 อิบิทดามีโอกาสที่จะลดลงอย่างมาก จะส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มระดับสูงขึ้น

“GRAND จะมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในระยะใกล้นี้  บริษัทมีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 คือเงินกู้ยืมระยะยาว  120 ล้านบาทและหุ้นกู้จำนวน 1,100 ล้านบาท ในขณะที่แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยวงเงินกู้จากสถาบันการเงินประมาณ 330 ล้านบาทและเงินสดที่ติดภาระค้ำประกันแต่คาดว่าจะปลอดภาระในเดือนเม.ย.ที่ประมาณ 800 ล้านบาท บริษัทกำลังขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเประมาณ 1,400 ล้านบาทจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ทริสฯพิจารณาเห็นว่าบริษัทอาจประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องในกรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อและตลาดตราสารหนี้อยู่ในสภาวะที่ผู้ลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเป็นเวลานาน”

หุ้นกู้ของบริษัทมีเงื่อนไขให้ต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่เกิน 3 เท่า ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.6 เท่า ทริสฯพิจารณาเห็นว่าบริษัทมีส่วนเผื่อสำหรับเงื่อนไขทางการเงินที่เพียงพอในกรณีที่การแพร่ระบาดของไวรัสสามารถควบคุมได้ในช่วงกลางปี 2563