GPSC ปิดดีลซื้อ 9 โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม รวม 39.5 MW สัญญาขายไฟ 25ปี

HoonSmart.com>>โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ ปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 9 โครงการ กำลังการผลิตรวม 39.5 เมกะวัตต์ ส่งบริษัทย่อย GRP เข้าถือหุ้น 100% ใน 4 บริษัท ขยายพอร์ตรายได้พลังงานทดแทน ขับเคลื่อนธุรกิจตามยุทธศาสตร์การเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือก

ชวลิต ทิพพาวนิช

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ (GRP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GPSC ได้บรรลุความสำเร็จการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในสัดส่วน 100% ใน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอ็น.พี.เอส.สตาร์กรุ๊ป, บริษัท เวิลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เอเชีย, บริษัท พี.พี. โซล่า และ บริษัท เทอร์ร่าฟอร์ม โกลบอล โอเปอเรติ้ง (ประเทศไทย) ซึ่งได้พัฒนาโซลาร์ฟาร์มรวมกัน 9 โครงการ กำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 39.5 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โครงการโซลาร์ฟาร์มทั้ง 9 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย ลพบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร และ ขอนแก่น ปัจจุบันสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีสัญญาซื้อขายไฟเป็นระยะเวลา 25 ปี จนถึงปี 2582-2583 โดยแบ่งเป็น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ Adder ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย (สำหรับช่วง 10 ปีแรกของสัญญา) ในสัดส่วน 3.6 เมกะวัตต์ และ สัญญาในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT อัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย ในสัดส่วน 35.9 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2557-2558

“หลังจากประสบความสำเร็จในการทำรายการในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้เต็มงวดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานในด้านของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า และการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก” นายชวลิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม แผนการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ในปี 2563-2566 บริษัทฯ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการส่วนต่อขยายของบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร (NNEG Expansion) โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร Rayong Waste to Energy (WTE) โครงการ เอนเนอยี รีคอฟเวอรี่ ยูนิต (ERU) และโครงการ SPP Replacement ของบริษัท โกลว์ พลังงาน ซึ่งขณะนี้ทุกโครงการมีความคืบหน้าในการพัฒนาตามแผน และมั่นใจว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้