SINGER ชูโมเดลขายตจว.กระจายเสี่ยงหลายทางลดผลกระทบโควิด-19

HoonSmart.com>> “ซิงเกอร์” ชูพื้นฐานยังแน่นท่ามกลางโควิด-19 กระทบกำลังซื้อกรุงเทพฯ ปริมณฑล และบางจังหวัด ยืนยันผลักดันยอดขายสินค้าได้ตามปกติ เพิ่มมาตรการคุมความเสี่ยง ชู “สินเชื่อรถทำเงิน” โตสวนกระแสในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ด้านการบริการบนโมเดลการขายแบบ Direct Sale ด้วยจุดแข็งมีกลุ่มเจมาร์ทผนึกกำลังเป็นพันธมิตร นำสินค้าเทคโนโลยีและประกันโควิด-19 เสริมแผนการขาย

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ผู้นำธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ห่วงใยความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 จึงออกมาตรการการป้องกันความเสี่ยง คุมเข้มพนักงานและตัวแทนขายก่อนไปพบลูกค้า และเนื่องจากแนวทางการขายของซิงเกอร์ฯ แข็งแกร่งในตลาดต่างจังหวัด ทำให้ยังรับมือในยามวิกฤติครั้งนี้ได้ดี เพิ่มความอุ่นใจให้ลูกค้าหากต้องการรับการบริการที่ดีที่สุดจากซิงเกอร์ฯ

ทั้งนี้ ตามที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดในเขตปริมณฑล และจังหวัดที่เกี่ยวข้องได้ประกาศให้มีการปิดศูนย์การค้าระหว่างวันที่ 22 มีนาคม 2563 -12 เมษายน 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 นั้น แม้ SINGER ไม่ได้รับผลกระทบทางตรง เนื่องจากปัจจุบันซิงเกอร์มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด และการขายแบบ Direct Sale มีร้านสาขาทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมกันกว่า 1,115 สาขา ครอบคลุม 763 ตำบล จาก 475 อำเภอทั่วประเทศ อีกทั้งการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานและการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้ซิงเกอร์ยังสามารถทำงานได้ตามปกติอย่างมีประสิทธิภาพ

“จุดแข็งของ SINGER คือการมีเครือข่ายตัวแทนขายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และร้านค้าที่ลงลึกระดับตำบล เป็นช่องทางการนำเสนอบริการและสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าจำนวนมาก แม้จะมีคำสั่งและมาตรการเข้มงวดเพื่อระงับการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 แต่ไม่กระทบกับการเดินหน้าผลักดันยอดขายของทีมขายซิงเกอร์ ที่ยังสามารถเสนอขายสินค้า และทำสัญญาได้ด้วยกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ที่บริษัทได้วางแผนรองรับไว้อย่างรัดกุม โดยประเมินยอดขายแอร์ปีนี้คาดจะทุบสถิติ จากอากาศร้อนในช่วงเดือนเมษายน และการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ประชาชนเก็บตัวอยู่บ้านมากขึ้น เสริมความต้องการสินค้าแอร์มีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับสินค้าในกลุ่ม”นายกิตติพงศ์ กล่าว

ในส่วนของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “รถทำเงิน” นั้น บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้จำนวนมาก จากสภาวการณ์ปัจจุบัน หากลูกค้ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินสามารถติดต่อเข้ามายังพนักงานขายสินเชื่อของซิงเกอร์ได้ตามปกติ ไม่มีการหยุดชะงัก รวมถึงลูกค้าหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศมาตรการต่างๆ ทำให้ต้องหยุดงานไม่มีรายได้ สามารถมีอาชีพทดแทน หารายได้ให้กับตนเองและดูแลครอบครัวได้ ด้วยการสมัครเข้าเป็นเครือข่ายขายสินค้าซิงเกอร์ฯโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนแม้แต่บาทเดียวได้อีกด้วย

นอกจากนี้การผนึกกำลัง SYNERGY ร่วมกันภายในกลุ่มเจมาร์ท นำเสนอสินค้าโทรศัพท์มือถือ สินค้าไอที และเทคโนโลยีของเจมาร์ท โมบาย พร้อมด้วยการจับมือกับ เจพี ประกันภัยนำแผนประกันภัยใหม่ล่าสุด ประกันโควิด-19 เสนอต่อลูกค้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการประกันจำนวนมากในสถานการณ์เช่นนี้ จึงสร้างความมั่นใจได้อย่างดีว่าบริษัทฯ จะสามารถยืนหยัดและเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง

แม้กำลังซื้อจะลดลง แต่ซิงเกอร์มีโมเดลธุรกิจที่โดดเด่นในการกระจายความเสี่ยงหลากหลายช่องทาง และมีกลุ่มเจมาร์ทเป็นพันธมิตรหลัก ควบคู่กำหนดนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบ ณ สิ้นปี 2562 มีพอร์ตสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท เป็นพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (car for cash) อยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท

พร้อมทั้งตั้งเป้าปี 2563 พอร์ตสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ประมาณ 5,800 ล้านบาท เป็นพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่ที่ราว 3,200 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนเกินกว่า 50% ของพอร์ตรวม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีโอกาสโต และ NPL ต่ำในระดับไม่ถึง 1% จากการเพิ่มสาขาและทีมขายรถทำเงินโดยเฉพาะ จากเดิมมี 90 คน เป็น 180 คน รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์การเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบัน คาดสิ้นปี ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินจะชัดเจนขึ้นได้ตามเป้าหมาย พร้อมคุมภาพรวม NPL ของบริษัทฯ ให้อยู่ในระดับ 7% จากปี 2562 อยู่ที่ 9.4% ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 3 ปี