HoonSmart.com>> บอร์ด SSP เลื่อนแผนคลอดวอร์แรนต์ SSP-W1 ราคาแสดงสิทธิ 10 บาท หลังสถานการณ์ตลาดไม่เอื้อ โควิด-19 ระบาดหนัก กดดันบรรยากาศการลงทุน-เศรษฐกิจ ด้าน “วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์” CEO ยืนยันไม่กระทบต่อแผนพัฒนาโครงการ เหตุมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งสามารถดำเนินงานต่อไปได้แบบไม่มีสะดุด ประกาศพร้อมเดินหน้าลุยวินด์ฟาร์ม-โซลาร์ฟาร์มเวียดนามตามแผน
นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯครั้งที่ 2/2563 มีมติยกเลิก มติที่ประะชุมคณะกรรมการครั้งที่1/2563 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ในข้อที่ 6,7,8,9 โดยขอยกเลิกการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (SSP-W1) จำนวนไม่เกิน 230,500,000 หน่วย โดยไม่มีมูลค่าการเสนอขาย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น รวมไปถึงยกเลิกการขออนุมัติการเพิ่มทุนจำนวน 230,500,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 922,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 1,152,500,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 230,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯรุ่นที่ 1 (SSP-W1)
“การตัดสินใจเลื่อนออก SSP-W1 ที่ราคาแสดงสิทธิ 10 บาทในครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ตลาดไม่เอื้อจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยการยกเลิกมติดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต เนื่องจากบริษัทฯมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง พร้อมที่จะดำเนินงานต่อไปโดยไม่สะดุดเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ด้านภาวะตลาด และภาวะหุ้นโดยรวม ถือว่าลงมาอย่างไม่ปกติ ซึ่งทางเรากำลังหามาตรการรองรับ” นายวรุตม์ กลาว
บริษัทฯ กำลังก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้าพลังงานลมกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนามตามแผน โดยปัจจุบันบริษัทฯมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และกำหนดขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงกลางปี 2564 โดยทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่มีผลกระทบใดๆจากไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฟส 2 ในประเทศเวียดนามเช่นเดียวกัน รวมถึงเตรียมเข้าลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อปในประเทศอินโดนีเซีย เบื้องต้นคาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำการติดตั้งบนหลังคาโรงงาน โดยคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาสรุปภายในปี 2563 นี้
“เรายังคงมองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปี ข้างหน้า จากที่ปัจจุบันขายไฟอยู่ 154 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้งบการเงินโตไปอีกมาก ในขณะที่ธุรกิจเราไม่โดนผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เพราะสัญญาขายไฟกับรัฐเป็นสัญญาระยะยาวทั้งหมด”นายวรุตม์ กล่าว