HoonSmart.com>>หุ้นกลุ่มปิโตรเคมีร่วงแรงที่สุด P/BV หายไป 62% กลุ่มแบงก์ถูกที่สุด เทรด P/BV เพียง 0.48 เท่า ภาพรวมตลาดยังสูงกว่า 1 เท่า กลุ่มโรงพยาบาลลง จาก 5 เท่า เหลือ 3 เท่า ราคาน้ำมันดิบดิ่งแรงเหลือ 25 หรียญ ต่ำสุดในรอบ 18 ปี กระทบหุ้นพลังงาน-ปิโตร นักวิเคราะห์ยูโอบีฯ-เมย์แบงก์ฯยังไม่แนะนำให้ซื้อ ฟิทช์ฯปรับแนวโน้มเครดิต PTT-PTTEP เหลือมีเสถียรภาพตามประเทศไทย ตลาดหุ้นไทยร่วงแรง 34 จุดก่อนเด้งกลับแรง ปิดลบ 3 จุด ตามดาวโจนส์ล่วงหน้าฟื้น รับธนาคารกลางสหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น-ไทยอัดฉีดเงินก้อนใหญ่ ธปท.เข้าซื้อพันธบัตรแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท
นางอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นมีสัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) ลงมาเหลือ 1.13 เท่า ณ วันที่ 16 มี.ค. 2563 เทียบกับสิ้นปี2562 อยู่ที่ 1.79 เท่า ลดลง 30%
ปัจจุบันมีหุ้น 5 กลุ่ม คือ ธนาคารพาณิชย์ ปิโตรเคมี อสังหาริมทรัพย์ อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน ซื้อขายที่ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า โดยแบงก์ต่ำที่สุดอยู่ระดับ 0.54 เท่า ส่วนโรงพยาบาล แม้ว่า P/BV ยังสูงกว่า 1 เท่า แต่ก็ลดลงมากเช่นกันจาก 5 เท่า เหลือ 3 เท่า
แนวโน้มราคาหุ้นยังลงได้อีก แต่คงไม่มากเท่ากับวิกฤตการณ์ในอดีต ซึ่งในช่วงหลังต้มยำกุ้ง ปี 2541 ตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ P/BV ต่ำสุด 0.58 เท่า ดัชนีอยู่ที่ 528 จุด ตอนเลห์แมน บราเธอร์ส P/BV ลงไปต่ำสุดอยู่ที่ 0.88 เท่า ดัชนีอยู่ที่ 801 จากปัจจุบันตลาดซื้อขายที่ 1.13 เท่า ดัชนีอยู่ที่ 1,048 จุด
“รอบนี้ดัชนีลงไปทดสอบระดับต่ำสุด 969 จุดแล้ว จะลงไป 900 จุด ก็เป็นไปได้ แต่จะลงไปถึง 800 จุด คาดว่ายังไม่ถอยลงแรง เพราะทั่วโลกมีมาตรการรับมือไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้ว่าราคาน้ำมันดิบลงแรงต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลแล้วก็ตาม แต่ในอดีตราคาต่ำกว่า 20 เหรียญ เกิดขึ้นไม่นาน เพียง 1-2 เดือน เพราะราคาต่ำกว่า 30 เหรียญ ผู้ผลิตจะอยู่กันไม่ได้ ต้นทุนเงินสดอยู่สูงกว่า 30 เหรียญ เช่น เวเนซุเอลา ดังนั้นการลงทุนต้องทยอยซื้อบางส่วน และต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด เตรียมเงินสดไว้ ถ้าดัชนีลงไปต่ำว่า 950 จุดอีกรอบจะได้มีเม็ดเงินเข้าไปซื้อได้ “นางอาภาภรณ์กล่าว
กรณีราคาน้ำมันดิบปรับลดต่ำสุด ในรอบ 18 ปี นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) คาดว่า ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 20-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบต่อหุ้นพลังงานและปิโตรฯ ซึ่งมีโอกาสที่ประมาณการกำไรของกลุ่มนี้หายไปเกือบครึ่งหนึ่ง จากกำไรของปี 2562 และยังไม่น่าลงทุน เนื่องจากตลาดหุ้นยังคงผันผวนอยู่
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดว่า ในช่วงนี้กรอบราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20-30 เหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มพลังงานและปิโตรฯ รวมถึงกลุ่มโรงกลั่นด้วย เฉลี่ยทั้งปีคาดว่าอยู่ที่ 45-50 เหรียญ แต่อาจจะมี Downside อยู่ที่ประมาณ 40-45 เหรียญ ทุกการลดลง 1 เหรียญจะทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีลดลง 3,500 ล้านบาท
“กลุ่มพลังงานและปิโตรฯ ยังไม่น่าลงทุน ราคาหุ้นจะปรับตัวลงไปอีก สถานการณ์ทั้งไวรัสโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมันยังไม่แน่นอน ส่วนกลุ่มโรงกลั่นอาจจะได้ประโยชน์ในไตรมาส 2จากต้นทุนน้ำมันถูกลง แต่ไตรมาส 1 เกิดขาดทุนสต็อก”นายวิจิตรกล่าว
บล.เอเซียพลัส แนะนำ กลุ่มปิโตรเลียม “เท่าตลาด” ในภาพระยะยาว ภายใต้ประมาณการใหม่ สิ้นปี 2563 PTTEP อยู่ที่ 110 บาท และ PTT อยู่ที่ 42 บาท แม้ในช่วงนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับฐานแรง หลุด 25 เหรียญฯก็ตาม
บริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ PPT และ PTTEP เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นบวก และคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวของทั้งสองบริษัทและอันดับเครดิตหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ PTTEPที่ระดับ ‘BBB+’ การปรับแนวโน้มเครดิตครั้งนี้เกิดจากการปรับแนวโน้มเครดิตของประเทศไทย เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นบวก เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563
ทางด้านตลาดหุ้นวันที่ 19 มี.ค. ผันผวนแรง เปิดตลาดดัชนีร่วงทันที 30 จุด และลงไปต่ำสุดที่ 34 จุด ก่อนจะเด้งกลับมาแรงในช่วงบ่าย และปิดที่ 1,044.19 จุด -3.96 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 61,601 ล้านบาท ปรับตัวดีกว่าตลาดหุ้นภูมิภาค เช่น ฮ่องกงร่วง 2.61% แม้ว่านักลงทุนต่างชาติยังคงขายออกมาอีก 3,125 ล้านบาท และสถาบันร่วมด้วย 1,264 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยซื้อ 2,738 ล้านบาท เริ่มเห็นการเลือกซื้อหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสแพร่ระบาดและเศรษฐกิจตกต่ำมากนัก เช่นหุ้นไฟฟ้า รวมถึงการซื้อหุ้นที่ได้ประโยชน์ จากการทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้มีความต้องการใช้มือถือและสื่อสารกันมากขึ้น รวมถึงการซื้อหุ้นพลังงาน เช่น PTTEP จากที่ลงไปต่ำสุดแตะ 51.25 บาท เด้งขึ้นไปสูงสุด 56 บาท ก่อนปิดที่ 55 บาท ติดลบ 2 บาทหรือ 3.51%
นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังได้รับผลทางอ้อมจากดัชนีดาวโจนส์ที่ตีกลับจาดติดลบ 1,000 จุดเหลือไม่ถึง 500 จุด รับมาตราการของธนาคารกลางหลายแห่ง นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ซื้อพันธบัตรกว่า 1 ล้านล้านเยน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดพันธบัตรแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ในช่วง 13-19 มี.ค.
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า ตลาดพันธบัตรมีความผันผวนสูงตามความตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลก ธปท. ได้เข้าซื้อพันธบัตรภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ (19มี.ค.) ธปท. เข้าซื้อพันธบัตรรวมประมาณ 45,000 ล้านบาท รวมการเข้าซื้อตั้งแต่ 13-19 มี.ค.2563 กว่า 100,000 ล้านบาท และยืนยันว่า ธปท. พร้อมที่จะเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความผันผวนของตลาดพันธบัตรและเสริมให้ตลาดมีสภาพคล่องในการซื้อขายอย่างเพียงพอ