KTAM ส่ง “ทริกเกอร์หุ้นไทย-กองทุนมุ่งรักษาเงินต้น” ลงทุนสู้โควิด

HoonSmart.com>> บลจ.กรุงไทย คลอด 2 กองทุนรับสภาวะตลาดผันผวน โควิด-19 แพร่ระบาด ชู “ทริกเกอร์ฟันด์” ลงทุนหุ้นไทย หลังดัชนีร่วง 30% ปีนี้ ตั้งเป้าผลตอบแทน 5% ภายใน 6 เดือน ส่วนนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ไม่มาก นำเสนอกองทุน “กรุงไทยประจำ 3 เดือนมุ่งรักษาเงินต้น 1” อายุโครงการ 3 เดือน ผลตอบแทน 0.50% ต่อปี

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเปิดจำหน่าย 2 กองทุน คือ กองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 3 เดือนมุ่งรักษาเงินต้น 1 และกองทุนเปิดกรุงไทย ทริกเกอร์ ฟันด์ 3 เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนในช่วงสภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ SET Index มีการปรับตัวลดลงประมาณ 30% ในปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มี.ค. 63) รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่มีการปรับตัวในระดับใกล้เคียงกันอัน เนื่องมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในหลายภูมิภาคทั่วโลก และปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมัน

สำหรับกองทุนเปิดกรุงไทย ทริกเกอร์ ฟันด์ 3 (KT-TRIG3) เปิดขายตั้งแต่วันที่ 17 – 19 มี.ค.2563 เป็นกองทุนรวมผสม มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทน 5% ภายในระยะเวลา 6 เดือน มีนโยบายกระจายเงินลงทุนของกองทุนในตราสารแห่งทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก และ/หรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างได้ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด หรือให้ความเห็นชอบให้ลงทุนได้

ผู้จัดการกองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนได้ในสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ กองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) -ไม่มีความเสี่ยงต่างประเทศ เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้น แต่ไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูล ข่าวสาร สถานการณ์การลงทุน กองทุนนี้นับว่าเป็นจังหวะและโอกาสที่ดี โดยมีเป้าหมายผลตอบแทนที่ 5% ภายในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนเปิดกรุงไทย ทริกเกอร์ ฟันด์ 3 จะเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมที่อิงกับปัจจัยภายในประเทศ (Domestic) ที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุน เลือกลงทุนรายหลักทรัพย์โดยให้ความสำคัญกับระดับราคาหุ้นที่สอดคล้องกับแนวโน้มผลประกอบการที่มีการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยพื้นฐาน รวมถึงหุ้นที่มีการขยับขึ้นของราคาไม่มาก (Laggard) และหุ้นที่มีการฟื้นตัวของผลการดำเนินงาน (Turnaround) วึ่งจับจังหวะการลงทุนโดยพิจารณาจากระดับราคาหุ้นที่จะเข้าลงทุนเพื่อมุ่งหวังให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี้ชี้วัดและเลือกลงทุนหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีราคาตามปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสม

ส่วนกองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 3 เดือนมุ่งรักษาเงินต้น 1 (KTFIX3M1) เปิดขายตั้งแต่วันที่ 16 – 20 มี.ค.2563 มีอายุโครงการประมาณ 3 เดือน เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เงินฝาก/บัตรเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยตราสารที่คาดว่าจะลงทุน คือ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในสัดส่วน 100% มีระดับความเสี่ยงของกองทุนที่ระดับ 4 คือ ปานกลางค่อนข้างต่ำ ผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 0.50% ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับไม่เสียภาษี ยกเว้นผู้ถือหน่วยลงทุนนิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่ประกอบกิจการในประเทศไทย เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่เน้นการได้รับผลตอบแทนในจำนวนเงินที่แน่นอนและต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเพื่อรับเงินในช่วงเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ สภาวะตลาดตราสารหนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ 28 ก.พ. – 6 มี.ค.2563 ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในประเทศมีการปรับตัว ลดลงทุกช่วงอายุตามแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศจากกระแส Risk off เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบกับการขยายตัวของ เศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อ และโอกาสที่ กนง. จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ภายหลัง Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบถึง 50 bps.
อย่างไรก็ดีตลาดยังจับตาดู Bond Supply หลัง พรบ.งปม.ปี 2563 มีผลบังคับใช้

สัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเป็นยอดขายสุทธิจำนวน 12,964 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีการปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุตามแรงซื้อเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัส Covid-19 ที่อาจฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ Fed ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบ (Emergency Rate Cut) ถึง 50 bps.สู่ระดับ 1.00%-1.25% ต่อปี และคาดว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค.2563

สำหรับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุคงเหลือ 2 ปีปรับตัวลดลง 37 bps. มาอยู่ที่ 0.49% ต่อปี อายุคงเหลือ 5 ปี ปรับตัวลดลง 31 bps. มาอยู่ที่ 0.58% ต่อปี และอายุคงเหลือ 10 ปี ปรับตัวลดลง 39 bps. มาอยู่ที่ 0.74% ต่อปี