CWT จ่อยื่นโรงไฟฟ้าชุมชนหลังคว้าบริหารขยะเทศบาลนครสวรรค์

HoonSmart.com>> ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป เตรียมยื่นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน หลังชนะดำเนินการโครงบริหารจัดการและการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน เทศบาลนครนครสวรรค์ สัญญายาว 25 ปี มูลค่ารวมประมาณ 590 ล้านบาท

บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท กรีน เพาเวอร์ 1 จำกัด (GP1) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 75.01% โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 GP1 ได้รับหนังสือแจ้ง การได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการโครงบริหารจัดการและการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนลงทุนโดยเอกชน เทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง และคาดว่าจะเข้าทำสัญญาโครงการบริหารจัดการและการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ภายในเดือน มิ.ย.2563

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นเพียงการลงทุนในการบริหารจัดการและการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนก่อนในเบื้องต้น และจะได้มีการพัฒนาเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชน ตามนโยบายของภาครัฐในลำดับต่อไป

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความพร้อมและทีมงานที่เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการขยะเป็นอย่างดี โดยที่จังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณขยะที่ต้องบริหารจัดการมากกว่า 300 ตันต่อวัน ซึ่งที่ส่งไปบ่อฝังกลบเทศบาลนครนครสวรรค์ มีประมาณ 250 ตันต่อวัน อีกทั้งในบ่อฝังกลบเดิมก็มีขยะอยู่จำนวนมากกว่า 1 ล้านตันแล้ว ทางเทศบาลฯจึงเห็นว่าการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการ จะทำให้การบริหารจัดการขยะทำได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เมื่อเราเห็นโอกาสจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมแข่งขันคัดเลือกในโครงการนี้ ซึ่งจากเกณฑ์การคัดเลือกที่ผ่านมา เราได้คะแนนประเมิณทางด้านเทคนิคสูงที่สุด ทำให้สามารถคว้าสิทธิผู้จัดการฯมาได้ เป็นการทำสัญญาว่าจ้างแบบระยะยาว 25 ปี มีมูลค่ารวมประมาณ 590 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัญญาในเฟสแรก: บริหารจัดการและจัดการขยะให้เป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF)”นายวีระพล กล่าว

อย่างไรก็ตามทางเทศบาลนครนครสวรรค์ จะพัฒนาโครงการต่อให้ไปเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะชุมชน เป็นโครงการที่น่าสนใจ เมื่อมีข้อกำหนดที่ชัดเจนจากทางเทศบาลฯแล้ว บริษัทฯจะได้รับเชิญชวนให้พัฒนางานโรงไฟฟ้าขยะชุมชนนี้ด้วย ซึ่งบริษัทมีความพร้อมที่จะทำงานต่อทันที โดยจะเป็นการต่อยอดจากเป็นผู้บริหารจัดการขยะไปสู่ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า และสอดคล้องกับมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ซึ่งอนุมัติให้บริษัทฯ เข้าลงทุนในโครงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ที่แม้ว่าจะใช้เวลานานซักนิดในการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติไว้ แต่เราก็ทำให้เห็นว่าเราทำได้ตามที่แจ้งไว้จริงๆ เพราะบริษัทฯจะทำแต่โครงการที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น และแน่นอนว่าจะไม่หยุดพัฒนาโครงสร้างการทำงานในทุกภาคธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อการเติบโตที่สูงขึ้นในทุกทิศทาง

“แม้ทั่วโลกจะอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากไวรัส COVID-19 แต่ธุรกิจ CWT ไม่ได้กระทบตามไปด้วยทุกธุรกิจ โดยรวมเรายังอยู่ในเกณฑ์ดี มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ด้วยธุรกิจโรงไฟฟ้าของเรา รวมทั้งธุรกิจในบริษัทย่อย ‘SakunC’ เป็นการทำงานร่วมกับส่วนราชการ ซึ่งในปี 2563 มีงานราชการเข้ามามูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท” นายวีระพล กล่าว