TMB จับมือ IFC ออกพันธบัตรสีเขียวแบงก์แรกของไทย

“ธนาคารทหารไทย” ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IFC) ออกพันธบัตรสีเขียวมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 1.85 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนทางการเงินกับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้า 5 ปี ออก 470 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ทีเอ็มบีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ออกพันธบัตรสีเขียว (กรีน บอนด์) อายุ 7 ปี แม้ว่าล็อตแรกจะเป็นเงินไม่มากนัก 60 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท แต่เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คาดว่าภายใน 5 ปี จะร่วมกับ IFC ออกจำนวน 470 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 15,000 ล้านบาท ถ้าทำได้เร็วกว่าระยะเวลาที่วางแผนไว้ก็จะทำ จากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อสีเขียวของธนาคารมีมูลค่า 9,000 ล้านบาท

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับไอเอฟซี ซึ่งเป็นผู้นำของโลกในด้านสินเชื่อสีเขียว นับว่าสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกรอบที่ทีเอ็มบีได้วางไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือดังกล่าวยังได้ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการลงทุนในกรีนบอนด์อีกด้วย”นายปิติ กล่าว

ปิติ ตัณฑเกษม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การออกกรีนบอนด์ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยนี้ นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทีเอ็มบีในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยดำเนินการตามกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของธนาคาร ทั้งในด้านองค์กร ภาคธุรกิจธนาคาร สิ่งแวดล้อม และด้านสังคม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน และจะส่งผลดีทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับ “โครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ” (climate-smart project) ที่จะได้รับการสนับสนุนตามวัตถุประสงค์ของกรีนบอนด์ที่ออกในครั้งนี้ ได้แก่ โครงการพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขยายสินเชื่อสีเขียวของทีเอ็มบี นอกจากนี้ การบุกเบิกตลาดกรีนบอนด์ยังก่อให้เกิดทางเลือกใหม่ของแหล่งเงินทุนสีเขียวระยะยาวในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2573 และยังช่วยลดปัญหาการขาดเงินทุนเพื่อสนับสนุนด้านภูมิอากาศ (climate-change finance) ของประเทศไทยซึ่งมีการประเมินไว้ที่กว่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จนถึงปี 2573 อีกด้วย

นายวิเวก พาทัค ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไอเอฟซี กล่าวว่า “กรีนบอนด์ของธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกซึ่งออกโดยทีเอ็มบีนี้ นับได้ว่าเป็นกรีนบอนด์ชุดที่ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ไอเอฟซีลงทุน และจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเร่งพัฒนาตลาดกรีนบอนด์ที่เพิ่งเริ่มตั้งตัวในประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่า ผู้ระดมทุนรายอื่นๆจะให้ความสนใจ และหันมาออกกรีนบอนด์เพื่อสนับสนุนโครงการที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-smart project) เพิ่มมากขึ้นต่อไป”

นอกจากความร่วมมือในการออกกรีนด์บอนด์แล้ว ทีเอ็มบีมีแผนที่จะออกพันธบัตรอีกชุดหนึ่ง ในวงเงิน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ กับไอเอฟซี เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สูงขึ้น เพราะเอสเอ็มอีเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายวิตทอริโอ ดิ เบลโล หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมภูมิภาคเอเชีย กลุ่มสถาบันการเงิน ของไอเอฟซี กล่าวเสริมว่า “กรีนบอนด์จะส่งผลดีต่อเป้าหมายของรัฐบาลไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการเติบโตของโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันเอสเอ็มอีบอนด์ซึ่งทีเอ็มบีจะออกในเวลาต่อไป จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ รวมทั้งช่วยในการพัฒนาโซลูชั่นส์ทางการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกด้วย”

อนึ่ง ทีเอ็มบีและไอเอฟซีมีความร่วมมือที่ใกล้ชิด โดยก่อนหน้านี้ เคยร่วมกันให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปี 2555 และได้ร่วมมือกันในด้านการกระจายความเสี่ยงเพื่อสนับสนุนทีเอ็มบีในการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในปี 2557