เงินเฟ้อส่อติดลบ 0.3-0.5% กรณีราคาน้ำมันต่ำลากยาว

HoonSmart.com>>บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยหวั่นน้ำมันดิบต่ำลากยาว กระทบอัตราเงินเฟ้อปี 63 ติดลบ แต่ยังมีความไม่แน่นอน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้ราคาสินค้าบางรายการสูงขึ้น ต้องติดตามสถานการณ์การบรรลุข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหม่ระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร 

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า กรณีราคาน้ำมันดิบโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำนาน 3 – 4 เดือน อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ -0.3% ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด เมื่อพิจารณาสถานการณ์โลกในปัจจุบัน  และหากราคาน้ำมันดิบโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำนาน 6 – 7 เดือน อาจส่งผลให้เงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ -0.5%

อย่างไรก็ดี การประเมินผลกระทบของสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2563 ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับตัวสูงขึ้นและอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเงินเฟ้อที่ยังมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ลดลง เกิดจากการเจรจาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (OPEC+) ประสบความล้มเหลวในการประชุมโอเปก วันที่ 6 มี.ค. 2563 เนื่องจากประเทศพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียเห็นต่างจากกลุ่มโอเปกที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต้องการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมมากกว่าที่ประเทศพันธมิตรเสนอไว้ในตอนต้นที่ 0.6-1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ข้อตกลงเดิมกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค. ดังนั้นแล้ว

ดังนั้นซาอุดีอาระเบียจึงตัดสินใจใช้วิธีการรุนแรง เพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ด้วยการประกาศลดราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าในเดือนเม.ย. บาร์เรลละ 6-8 ดอลลาร์ฯ แก่ประเทศคู่ค้า ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ซื้อขายล่วงหน้า (Brent Crude Future) ลดลงอย่างมากจากระดับ 45.5 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 6 มี.ค. มาอยู่ที่ระดับ 31.02 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 9 มี.ค. หรือลดลง 31.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่เป็นผลดีกับทั้งประเทศที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงกว่าซาอุดีอาระเบีย หรือซาอุดีอาระเบียเอง อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่กำหนดสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกในปี 2563 ยังอยู่ที่เงื่อนไขเวลาในการบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหม่ระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร