BCPG ทุ่มงบลงทุน 5 ปีกว่า 4.5 หมื่นลบ. ตั้งเป้าโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี

HoonSmart.com>> บีซีพีจี เปิดแผนลงทุนเติบโต 75% ใน 5 ปี โชว์ EBITDA รวมพุ่งกว่าเท่าตัว จากโครงการในพอร์ทลงทุน ชดเชยรายได้ Adder ทยอยหมด และยังมีอีกหลายโครงการใหม่ เดินหน้ามุ่งขยายโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไปยังประเทศกลุ่ม CLMV และเอเชียแปซิฟิค หนุน EBITDA โตต่อเนื่อง วางงบลงทุน ไม่ต่ำกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์ 5 ปีนับจากนี้ไป บริษัทฯ วางเป้าหมายการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 10-15 % ใน 5 ปี บริษัทฯ จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวด้วยแผนยุทธ์ศาสตร์ 4E’s ประกอบด้วย

1.Expanding การขยายธุรกิจโดยมุ่งเน้นธุรกิจที่เป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิค โดยมีเป้าหมายขยายไปยังพลังงานทดแทนที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการเกื้อหนุนกัน สร้างสมดุล ก่อเกิดรายได้ที่สม่ำเสมอมากขึ้น นอกจากนี้ ยังขยายการลงทุนไปยังโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้นในระยะยาว

2.Extending การขยายธุรกิจด้านดิจิทัล เอนเนอร์ยี่ (Digital Energy) เพื่อตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก บีซีพีจีได้พัฒนาสินค้าและบริการด้านดิจิทัล เอนเนอร์ยี่ ร่วมกับบริษัทในกลุ่มบางจากเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างการพัฒนาช่องทางทางการตลาดโดยได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจด้าน Internet Service Provider ที่มีความพร้อมเรื่องช่องทางการจำหน่าย ฐานลูกค้าทั้งส่วนองค์กร และรายย่อย รวมทั้งมีทีมขายและหน่วยบริการหลังการขายที่แข็งแกร่ง ซึ่งบีซีพีจีได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แล้ว และอยู่ในระหว่างทำข้อตกลงกับพันธมิตรอื่นอีกหลายราย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน และโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ

3.Enhancing บีซีพีจีติดตามและมองหาโอกาสในการเพิ่มรายได้จากโครงการที่มีในปัจจุบัน อาทิ การใช้เทคโนโลยีไฮบริด (Hybrid) โดยการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นต้น

4.Evaluating เรามีทีมเฉพาะทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของทุกโครงการ เพื่อปรับปรุง พัฒนา บริหารจัดการโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านเทคนิคและในด้านโครงสร้างทางการเงิน

นายบัณฑิตกล่าวว่า ภายในปี 2568 บีซีพีจี จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ซึ่งนอกจากจะสามารถชดเชยส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่จะทยอยหมดลงไปแล้ว ยังมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อย ปีละ 10-15 % จากนี้ไป การเติบโตของ EBITDA ดังกล่าวมีผลมาจาก

1. การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นจำนวน 4 โครงการ กว่า 14.7 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโครงการและมีความคืบหน้าตามลำดับ

2. การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น จากการพัฒนาโครงการส่วนต่อขยายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า และโครงการอื่นที่ได้รับสิทธิการสำรวจ

3. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ได้แก่ เขื่อน Nam San 3A และเขื่อน Nam San 3B ที่จะรับรู้รายได้เต็มปี และตั้งแต่ ปี 2565 จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามในราคาสูงขึ้น มีการรับประกันการรับซื้อไฟในรูปแบบ Take-or-Pay และ มีเสถียรภาพมากขึ้นด้วยการรับชำระค่าไฟฟ้าในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ทั้งจำนวน

4. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ใน สปป. ลาว ที่บริษัทฯ กำลังพัฒนาผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน อิมแพค เอนเนอร์ยี่ เอเซีย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (Impact Energy Asia Development Limited) เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผลิตกังหันลม และอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการอนุมัติสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าของรัฐบาลเวียดนามซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างและแล้วเสร็จภายในปี 2566

5. รายได้จากธุรกิจขายปลีก (Retail) เป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เอนเนอร์ยี่ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ (Digital Energy Products & Services) โดยอยู่ในระหว่างการทำการตลาดผ่านคู่ค้าในกลุ่มธุรกิจ Internet Service Provider ที่มีศักยภาพอีกหลายราย

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า นวัตกรรมใหม่ในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ใน สปป.ลาว และขายไฟฟ้าให้แก่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามที่สำเร็จลุล่วงไปแล้วนั้น ทำให้บริษัทฯ มีประสบการณ์และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการพัฒนา การบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าในระดับภูมิภาคนี้เป็นอย่างดี เป็นผลดีต่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชายแดนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลาง ในการที่จะใช้โมเดลเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

ขณะนี้บริษัทฯ มีโครงการที่จะสร้างสายส่งจำนวน 2 โครงการ โดยโครงการแรกอยู่ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว เป็นการสร้างสายส่งขนาด 220 กิโลโวลต์ เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งโครงการยังมีศักยภาพในการรองรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเวียดนามเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามแล้ว โดยขณะนี้บริษัทฯ พบว่ามีหลายโครงการที่น่าสนใจสายส่งโครงการที่สองขนาด 500 กิโลโวลต์ อยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว เพื่อส่งไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับกำลังการผลิตได้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในอนาคตบริษัทฯ มองว่าโครงการสายส่งนี้สามารถรองรับโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย

“ภายใต้แผนเติบโตกว่าเท่าตัว หรือ 10-15% ในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ จะใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 45,000 ล้านบาท บริษัทฯ มั่นใจว่าแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน เลือกลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูงในความเสี่ยงที่สามารถบริหารจัดการได้ดีนั้น การหาแหล่งเงินลงทุนเป็นเรื่องที่จัดการได้“นายบัณฑิต กล่าว