BJC บวก 2% ไม่สนภาระกู้เงิน 3 แสนลบ.ซื้อเทสโก้ฯ

HoonSmart.com>>หุ้นเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ไต่ขึ้น ได้อานิสงส์ตลาดดีดขึ้นแรงกว่า 30 จุด นักลงทุนไม่ตกใจ กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เตรียมกู้เงิน 3.14 แสนล้านบาท ประมูลซื้อกิจการเทสโก้ในไทย-มาเลเซีย สถานการณ์ไม่เหมือน CPALL 

วันที่ 3 มี.ค.2563 ราคาหุ้นของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 37.25 บาท ก่อนปิดที่ 36.50 บาท บวก  1 บาท คิดเป็น 2.82 %  ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  273 ล้านบาท ท่ามกลางดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งแรง 39.30 จุด คิดเป็น 2.94%

ทั้งนี้หุ้น BJC ไม่ได้รับผลกระทบกรณีที่มีข่าวว่า กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เตรียมเงินกู้กว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.14 แสนล้านบาท สำหรับเข้าประมูลซื้อกิจการของเทสโก้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ประกอบด้วยไทยและมาเลเซีย   ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น BJC แตกต่างจากกรณีบริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) ก่อนหน้านี้ ที่ประกาศตัวลงแข่งประมูลเทสโก้แล้วราคาหุ้นไหลลงอย่างชัดเจน เพราะนักลงทุนกังวลถึงผลกระทบ เช่น บริษัทอาจจำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนและภาระดอกเบี้ยจากการกู้เงินเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิด ว่า กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เตรียมเงินกู้กว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.14 แสนล้านบาท สำหรับเข้าประมูลซื้อกิจการของเทสโก้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วยไทยและมาเลเซีย

หากเจ้าสัวเจริญชนะการประมูลและเงินกู้จริงจะกลายเป็นการกู้เงินที่มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมากกว่าตอนที่กลุ่มซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ กู้เงิน 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.88 แสนล้านบาท ในการเข้าซื้อแม็คโคร ในปี 2013 ด้วยมูลค่า 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลุ่ม TCC ของเจ้าสัวเจริญ เป็นหนึ่งในผู้ที่เตรียมเข้าประมูลซื้อธุรกิจของเทสโก้ซึ่งคาดว่าจะมีราคาสูงกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ผู้บริหารและที่ปรึกษาของเทสโก้เริ่มประเมินข้อเสนอสำหรับการขายธุรกิจในไทยและมาเลเซีย หลังจากผ่านกำหนดการยื่นวันสุดท้ายในวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้

สำหรับธุรกิจของเทสโก้มีทั้งสิ้น 2,000 สาขาในไทย และอีก 74 สาขาในมาเลเซีย ผลประกอบการครึ่งปีแรกจนถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2019 ทั้งสองประเทศมียอดขาย 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.03 แสนล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 6,900 ล้านบาท

ทางด้านผลการดำเนินงานของ BJC ในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 7,278 ล้านบาท เติบโต 628 ล้านบาท หรือ 9.4% และรายได้รวม 174,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,814 ล้านบาท หรือ 1.1% จากปี 2561

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 กลับมีรายได้ ลดลง 876 ล้านบาท หรือ 1.9% เหลือจำนวน  44,539 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายและรายได้ค่าบริการรวมลดลง 662 ล้านบาท หรือ 1.6% อยู่ที่ 40,564 ล้านบาท  แต่กำไรสุทธิ 2,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 347 ล้านบาท หรือ 16.3% เพราะยอดขายของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคเติบโต ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น และอัตราภาษีเงินได้ที่ลดลง

บริษัทยังคงขยายสาขาของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ในไตรมาส 4 เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 3 สาขา เปิดร้านขายยาเพรียว 2 สาขา ณ สิ้นปี 2562 มีสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 151 สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์และบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า), บิ๊กซีมาร์เก็ต 62 สาขา (บิ๊กซี มาร์เก็ต และ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส), มินิ บิ๊กซี 1,016 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 63 สาขา), และร้านขายยาเพรียว 145 สาขา