ก.ล.ต.จัดทัพบล.-บลจ.แข่งขันได้บริการดี หลักทรัพย์กำไรแค่ 5พันลบ.กองทุนโกย 1 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>ก.ล.ต.แถลงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2563-2565) เล็งสร้างความพร้อมในการแข่งขันของคนกลาง หวังให้บริการประชาชนดีขึ้น ให้คนไทยเกษียณสุข กางข้อมูล บล.ทั้งระบบ 48 บริษัทมีกำไรรวมแค่ 5,000 ล้านบาทในปี 62 ต้นทุนค่าคอมมิชชันเฉลี่ย 0.7% คิดลูกค้าต่างชาติต่ำ ส่วน 23 บลจ. โกยกำไรกว่า 1 หมื่นล้านบาท ขายหน่วยลงทุนเองมากขึ้น ลูกค้ายังคงสนใจลงทุนผ่านกองทุนรวม  ด้านผลดำเนินงานตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย  3,114 ล้านบาท

นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวหัวข้อ “เสริมสร้างความพร้อมแข่งขัน สร้างภูมิคุ้มกันวัยเกษียณ” ในงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563 –2565 ว่า ก.ล.ต.กำลังจัดภูมิทัศน์ สนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์(บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)เข้มแข็ง แข่งขันได้ เพื่อให้บริการที่ดีขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันวัยเกษียณ จากข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีสมาชิก 3 ล้านคน พบว่าประมาณ 74% มีเงินออมไม่เพียงพอใช้ตอนเกษียณ

“ก.ล.ต.กำลังพิจารณากฎกติกา อาทิ  ทบทวนโครงสร้างใบอนุญาต และปรับปรุงการกำกับ แทนที่จะสุ่มตรวจความเสี่ยง จะไปดูแลว่าได้บริษัทได้ดูแลคความเสี่ยงได้ดีหรือยัง เช่น ขายตราสารหนี้มีการวิเคราะห์อย่างดีหรือไม่ “นางวรัชญากล่าว

ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์มีทั้งหมด 48 บริษัท พบว่าผลการดำเนินงานในปี 2562 มีกำไรรวม 5,049 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่ 64% ยังคงพึ่งพาค่าคอมมิชชัน ที่มีการแข่งขันเก็บในอัตราต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่มีต้นทุนค่าคอมมิชชัน 0.7% และยังมีค่าใช้จ่ายงานวิเคราะห์วิจัยสูงด้วย

ส่วนบลจ.มีทั้งหมด 23 บริษัท กลับมีกำไรทั้งสิ้น 1.91 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากที่มีกำไร 9,870 ล้านบาทในปี 2560  เพราะประชาชนมีการลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น มูลค่าสินทรัพย์เติบโตต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นกองตราสารหนี้ และเร่ิมเพิ่มขึ้นในส่วนหุ้น รวมถึงการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ  รวมกับบลจ.มีการขายหน่วยลงทุนเองเพิ่มขคึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่ยังขายผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ตาม
 

วรัชญา ศรีมาจันทร์

รองเลขาธิการ กล่าวว่า  โครงสร้างตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมากขึ้น และนักลงทุนทั่วไปมีการซื้อขายน้อยลง ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีสมาชิกเพียง 3 ล้านคน นับว่าน้อยเทียบกับวัยแรงงานที่มีถึง 15 ล้านคน  รวมถึงสมาชิกยังมีการออมต่ำ ประมาณ 74% มีเงินไม่พอใช้จ่ายในยามเกษียณ จะต้องหาแนวทางและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในกาเพิ่มสมาชิกได้อีกมาก

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ปี 2562 ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย 3,114 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 7,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.75% จากปีก่อนหน้า โดยรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 162 ล้านบาท จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนและหลักทรัพย์ใหม่เพิ่มขึ้น รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 184 ล้านบาท จากการรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยจากเหตุวางเพลิงอาคารเดิมของตลาดหลักทรัพย์ฯ และรายได้จากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 362 ล้านบาท  กำไรจากการขายกองทุนและกำไรจากการ mark to market ของเงินลงทุน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ 4,217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า จากค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่

ปีที่ผ่านมามีการออกพ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ โอนเงินให้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จำนวน 5,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการพิเศษเฉพาะปี 2562 ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 2,599 ล้านบาท

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563 –2565 ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อน เปลี่ยนผ่าน ก้าวนำสู่ความยั่งยืน” โดยนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ กล่าวในหัวข้อ “มอง 3 ปีข้างหน้ากับการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย” นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ รองเลขาธิการ กล่าวในหัวข้อ “เปิดมิติใหม่ของการระดมทุน” นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการ หัวข้อ “เสริมสร้างความพร้อมแข่งขัน สร้างภูมิคุ้มกันวัยเกษียณ” นายศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ กล่าวเรื่อง “เตรียมพร้อมให้เท่าทันอาชญากรรมเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเพื่อความเชื่อมั่นตลาดทุน” และนายกำพล ศรธนะรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กล่าวถึง “ก.ล.ต. สู่องค์กรดิจิทัลเพื่อตลาดทุน” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก