โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
เริ่มด้วยชื่อเพลงดังของเบิร์ด ธงไชย ในอดีตเลย เพราะรู้สึกอย่างนี้จริงๆ กับข่าวแบงค์ชาติปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชนตามนโยบายแบงค์ชาติที่กำหนดให้สถาบันการเงินจะต้องนำหลักคิดใน 4 เรื่องดังต่อไปนี้มาประยุกต์ใช้กับการกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับเรื่องอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ
1. ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ
2. ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ
3. ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน
4. ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน
โดยทั้ง 3 มาตรการที่ประกาศออกมา ประกอบด้วย
• ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment charge)
• ให้คืนค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร
• ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ให้คิดเฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น
ค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด จ่ายค่าปรับลดลง (มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563)
สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด ซึ่งเดิมผู้ประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน แต่เกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ
ยกตัวอย่างคือ หากเรากู้สินเชื่อ SMEs จากธนาคาร 10 ล้านบาท มีกำหนดชำระคืนใน 10 ปี หากผ่อนมา 4 ปี คืนเงินต้นไป 4 ล้านบาท เหลือเงินต้น 6 ล้านบาท แล้วเรามีเงินก้อนอยากปิดหนี้ก่อนครบกำหนด 10 ปี
วิธีการเดิมธนาคารจะคิดค่าปรับปิดหนี้ก่อนกำหนด จากยอดเงินต้นทั้งก้อน 10 ล้านบาท ซึ่งปกติธนาคารจะคิดค่าปรับโดยคูณด้วยดอกเบี้ยต่อปี เช่นหากคิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ค่าปรับตามวิธีคิดแบบเดิมคือ 10 ล้าน X 2% เท่ากับ 200,000 บาท แต่วิธีคิดดอกเบี้ยแบบใหม่ จะคิดจากเงินต้นที่เหลือ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ 6 ล้านบาท X 2% เท่ากับ 120,000 บาท นั่นเท่ากับว่าเราประหยัดเงินไปได้ถึง 80,000 บาท
นอกจากนี้ยังให้สถาบันการเงิน ต้องกำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน เช่น ระยะเวลาผ่อนชำระทั้งสัญญา 10 ปี แต่กำหนดให้หากปิดหนี้หลังจากปีที่ 3 หรือ ปีที่ 5 จะไม่คิดค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด
ค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนดที่เราอาจจะเจออีกที่ ก็คือ สินเชื่อบ้านที่จะมีค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนดเช่นกัน กฎหมายใหม่นี้จะช่วยให้ค่าปรับที่ไม่สูงเกินไป ทำให้เรามีสิทธิที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด และ refinancing หนี้ได้ง่ายและเร็วขึ้น
ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม ขอคืนได้ (มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563)
เพิ่งรู้เหมือนกันนะว่า ค่าธรรมเนียมรายปีบัตร ATM หรือบัตรเดบิตที่เราจ่ายไป เราสามารถขอคืนส่วนต่างของค่าธรรมเนียมรายปีที่เราไม่ได้ใช้ถ้าเรายกเลิก เพราะที่ผ่านมาธนาคารจะไม่มีการคืนส่วนต่างค่าธรรมเนียมหรือคืนก็ต่อเมื่อเราร้องขอเท่านั้น แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ธนาคารคืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ
ตัวอย่างเช่น สมมติธนาคารคิดค่าธรรมเนียมบัตรรายปีกับเราปีละ 300 บาท หากเราใช้ไป 3 เดือน (90 วัน) แล้วเราไปขอยกเลิก ธนาคารต้องคิดค่าธรรมเนียมเราตามสัดส่วนที่เราใช้ไปในที่นี้คือ 90 วัน ไม่ใช่ 365 วัน คิดเป็นเงินเท่ากับ 73.97 บาท แปลว่าธนาคารต้องคืนค่าธรรมเนียมให้เรา 300 – 73.97 เท่ากับ 226.03 บาท
นอกจากนี้กรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม
ดีใจนะที่กฎหมายนี้ออกมา จริงๆ แล้วสถาบันการเงินน่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคมากกว่านี้ น่าจะคืนให้โดยไม่ต้องให้แบงค์ชาติออกกฎหมายมากำหนด เพราะประชาชนคนไทยก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไรนักหนา เงินที่เก็บไปอย่างไม่ยุติธรรม (เหมือนลาภมิควรได้) อาจดูไม่เยอะในมุมมองของสถาบันการเงิน แต่เป็นเงินที่สำคัญต่อชีวิตและครอบครัวของชาวบ้านทั่วไป
ตัวอย่างหนึ่งที่เคยเจอมาก็คือ ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ สิทธิของเราที่ประกันไม่ค่อยบอก คือ หากเกิดอุบัติเหตุแล้วเราเป็นฝ่ายถูกรถเสียเพราะความผิดคู่กรณี ประกันรับซ่อมให้ แต่ค่าใช้จ่ายตอนไม่มีรถกลับต้องจ่ายเอง เสียประโยชน์มาตลอด จริงๆแล้วเราสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้จากประกันของคู่กรณีได้ แต่เราต้องไปดำเนินการเอง และบริษัทประกันหลายแห่งจะลีลามาก ต่อรองให้เราได้เงินน้อยๆ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องออกกฎหมายเรื่อง “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ 2562” ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 โดยหากเราเป็นฝ่ายถูก และเราต้องเอารถไปเข้าอู่ซ่อม
เราสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากประกันภาคสมัครใจ (ประกันชั้น 1-3) จากคู่กรณีได้ ในอัตรา ดังนี้
1. รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
3. รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง กำหนดอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ให้คิดเฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 พ.ค.63)
สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ เกณฑ์คิดดอกเบี้ยแบบใหม่ ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น
ยกตัวอย่าง กู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท กำหนดผ่อนงวดละ 42,000 บาท 240 งวด (20 ปี) โดยคิดดอกเบี้ย 8% ต่อปี โดยการผ่อนชำระตรงมาตลอด แต่เกิดมีปัญหาในงวดที่ 25 เงินไม่พอชำระ ทำให้ผ่อนได้ไม่ตรงตามที่ธนาคารกำหนด ล่าช้าไป 30 วัน
เดิมธนาคารจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระจากเงินต้อนคงเหลือ หากผ่อนมา 24 งวด จะเหลือเงินต้น 4,770,000 บาท พอผิดนัดชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ต้องจ่ายคือ 4,770,000 X 8% X จำนวนวันที่จ่ายล่าช้า 30 วัน เท่ากับ 31,364.38 บาท
แต่วิธีคิดของใหม่ให้คำนวณจาก “เงินต้นงวดที่ผิดนัดชำระ” หากผ่อนงวดละ 42,000 บาท เป็นเงินในงวดนั้น 10,000 บาท เป็นดอกเบี้ย 32,000 บาท เท่ากับว่าเกณฑ์ใหม่จะคิดดอกเบี้ยปรับจากเงินต้น 10,000 บาท คือ 10,000 X 8% X จำนวนวันที่จ่ายล่าช้า 30 วัน เท่ากับ 65.75 บาท
การคิดดอกเบี้ยแบบใหม่ ลดภาระไปถึง 31,298.63 บาท ซึ่งถือว่าเป็นคุณกับบรรดาคนที่เป็นหนี้อย่างมาก และโดยเฉพาะคนที่ชำระค่างวดล่าช้า นั่นแปลว่าคนเหล่านั้นกำลังมีปัญหา เกณฑ์ใหม่นี้ถือเป็นประโยชน์และช่วยผ่อนภาระ รวมทั้งความกังวลให้คนเป็นหนี้ได้แบบยกภูเขาบางส่วนออกจากออกได้
นอกจากยังให้สถาบันการเงิน กำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผัน ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เช่นกำหนดให้ชำระล่าช้าได้ไม่เกิน 7 วัน เป็นต้น และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน
โดยเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดนี้ จะถูกปรับโดยอัตโนมัติโดยประชาชนไม่ต้องไปแก้สัญญาเพื่อรับสิทธิการ คิดดอกเบี้ย แบบใหม่ กับสถาบันการเงิน เมื่อหลักเกณฑ์มีผลบังคับใช้ ธนาคารต่างๆ จะมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงมาที่เราเอง
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ก่อนถึงวันที่ 1 พ.ค. 63 ถ้าหากมีการผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินสามารถพิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ได้ตามสมควร หากเรามีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนได้ที่ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ โทร.1213
นอกจากนี้ ธปท. ได้จัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของ สง. แต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้น ตาม link นี้ https://www.1213.or.th/th/aboutfcc/Pages/productdisclosure.aspx
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซท์ https://businesstoday.co