9 แบงก์โกยกำไร 172,924 ลบ. BBL ตั้งสำรองพิเศษ  SCB เปิดแผนหรูปี’ 63

HoonSmart.com>>ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง โชว์ผลงานปี 62 ฟาดกำไร 172,924 ล้านบาท เติบโต 3.89% ไตรมาส 4/62 เพิ่มขึ้น 6.45% เป็น 35,563 ล้านบาท ได้กำไรพิเศษช่วย “ซีไอเอ็มบีไทย” โตก้าวกระโดดมากที่สุด แบงก์กรุงเทพน่าผิดหวัง โตแค่ 1.37% เพียง 35,816 ล้านบาท ไตรมาสสุดท้ายกลับลดลง แม้มีรายได้จากการขายเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 52.3% แต่ตั้งสำรองมากเป็นพิเศษ นักลงทุนขายหุ้น BBL ต่อ ส่วน SCB พบนักวิเคราะห์ให้ข้อมูลแผนการเงินปี 2563 บล.บัวหลวงเผยออกมาดีเกินคาด

ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งเปิดเผยผลประกอบการปี 2562 มีกำไรรวมทั้งสิ้น 72,924 ล้านบาท เติบโต 3.89% และไตรมาส 4/62 เพิ่มขึ้น 6.45% เป็น 35,563 ล้านบาท โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) มีกำไรเติบโตก้าวกระโดด 21,668% คือกำไรสุทธิ 1,502ล้านบาท

ในปี 2562 ภาพรวมของกำไรที่ดีขึ้นสวนทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงเกิดจากกำไรพิเศษ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต และธนาคารกรุงเทพ (BBL) ขายหุ้นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) แต่ธนาคารทั้งสองแห่งกลับตัดสินใจตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้กำไรที่ออกมาน้อย สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน จึงมีแรงขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง วันที่ 21 มกราคม BBL ปิดที่ 147.50 บาท ติดลบ 2.50 บาทหรือ 1.67% และ SCB ปิดที่ 100.50 บาท ลดลง 1.50 บาทหรือ 1.47% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสุทธิตามคาด ราคาหุ้นพลิกกลับเป็นบวก 4 บาทหรือ 2.96% ปิดที่ 139 บาท

ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 35,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% แต่ไตรมาส 4/2562 กลับลดลง 1.22% เหลือกำไร 8,003 ล้านบาท

สาเหตุทื่กำไรเพิ่มขึ้น 1.4% มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 3.3% เป็นผลจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้น การเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมสอดคล้องกับเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อย โดยมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35% รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น 52.3% จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน

ทั้งนี้ แม้ว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับทรงตัว ธนาคารมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ทางบัญชี คาดว่าจะมีอัตราการกันสำรองที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อย 0.4% จากปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับดีที่ 41.1%

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อ 2,061,309 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากสิ้นเดือนกันยายน สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.4% ขณะที่เงินสำรองอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 220.2% ของเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและการบริหารความเสี่ยง พร้อมทั้งบริหารคุณภาพสินเชื่อควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะที่ฐานะการเงินและเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารมีมติอนุมัติเป้าหมายทางการเงินสำหรับปี 2563 ผู้บริหารได้ประชุมกับนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 21 มกราคม โดยบล.บัวหลวงมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นจากเป้าหมายการเงินปี 2563 ที่ดีกว่าประมาณการเดิม

ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3-5% ตามเศรษฐกิจที่เติบโต 2.8% เน้นสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจ ส่วนอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ตั้งเป้าที่ 3.2-3.4% จาก 3.3% ในปีก่อน ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ขยายตัว 7-10% (ไม่รวมกำไรจากการขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน)  ต้นทุนการเงินอยู่ที่ 1.20-1.30% ลดลงจาก 1.70%ในปีก่อน อัตราส่วน NPL อยู่ที่ 3.4% ใกล้เคียงกับปีก่อน และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) มากกว่า 130% จาก 134% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 40% ปลายๆจาก 49% ปีก่อน

“เป้าหมายของ SCB ค่อนข้างดีกว่าที่เราประมาณการ สินเชื่อโต 3% NIM ที่ 3.2% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยโต 5% และต้นทุนการเงินประมาณ 1.50% หากแบงก์ทำได้ดีตามคาดเป็นอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรของเรา แต่คงจะต้องรอดูการดำเนินงานในไตรมาส 1 ก่อนถึงปรับคำแนะนำ จากปัจจุบันให้ถือ” บล.บัวหลวงระบุ

ด้านธนาคารกสิกรไทย (KBANK) แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 กำไรสุทธิ 38,726.74 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 268 ล้านบาท หรือ 0.70% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 38,459.12 ล้านบาท

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปี 2562 ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4,150 ล้านบาท หรือ 4.21% ส่วนใหญ่เกิดจากเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้ NIM อยู่ที่ระดับ 3.31% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 858 ล้านบาท หรือ 1.51% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน เพิ่มขึ้น 4,381 ล้านบาท หรือ 6.41% ส่งผลให้ Cost to income ratio อยู่ที่ระดับ 45.32%

ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมี NPLs อยู่ที่ระดับ 3.65% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 3.34% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ระดับ 148.60% ลดลงจากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ระดับ 160.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามหลักเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 19.62% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.19%

สำหรับผลงานไตรมาส 4/2562 มีกำไรสุทธิ 8,802 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 1,149 ล้านบาท หรือ 11.55% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 526 ล้านบาท หรือ 2.02% NIM อยู่ที่ระดับ 3.25% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 385 ล้านบาท หรือ 2.44%

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” หุ้น KBANK ราคาเป้าหมาย 144 บาท หลังจากกำไรไตรมาส 4 เป็นไปตามคาด แต่ NPLs ยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 3.65% จากไตรมาส 3 ที่ 3.53% แม้ว่าจะมีการขายออกอย่างต่อเนื่องอีก 5,800 ล้านบาท จากไตรมาส 3 ที่ 8,800 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 22% QoQ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเป็น NPLs ได้ในอนาคต

ส่วนธนาคารทหารไทย (TMB) บล.เคทีบีฯ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 1.86 บาท แม้กำไรไตรมาส 4 ที่ 1,600 ล้านบาท ต่ำกว่าคาด จากการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นในธนาคารธนชาต 1,300 ล้านบาท จากปกติตั้งไตรมาสละ 700 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นครั้งเดียว อย่างไรก็ตามเป้าหมายของราคาหุ้นยังไม่ได้รวมผลดีจาก synergy ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังการควบรวมกับธนาคารธนชาต ที่จะทำให้ ROE เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต แต่ระยะสั้นมีความเสี่ยงจาก ธปท.มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีก

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย  เปิดเผยว่า ในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,501.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 216 เท่า สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 48.7% ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มคุณภาพสินทรัพย์ และการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน 3.5% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 14.1%

อ่านข่าว
อ่านข่าว

KTB ปี 62 กำไร 2.9 หมื่นลบ.โต 2.8% สินเชื่อเพิ่ม-สำรองหนี้ลด

KBANK ปี 62 กำไร 3.87 หมื่นลบ. โต 0.70%

CIMBT ปี 62 กำไรพุ่งแตะ 1.5 พันลบ. โต 216 เท่า สำรองหนี้ลด