ASP ลั่น 1,530 จุด เอาอยู่ ‘ภากร’ มองวิกฤตเป็นโอกาส ตปท.รอช้อน

HoonSmart.com>>บล. เอเซีย พลัส คาดดัชนีจะไม่หลุดต่ำกว่า 1530 จุด หากไม่มีเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ ทั้งใน-ตปท.  กลยุทธ์ลงทุนเน้นตัวพื้นฐานแกร่ง ปันผลเกิน 5% ไตรมาส 1 เชียร์ BGRIM-PTT-LH- AP -ROBINS-CPF “ภากร”ออกโรงแถลงปลุกความเชื่อมั่น มองหุ้นลงเป็นโอกาสดี ยกสถิติเหตุการณ์ในอดีต เพียง 3 วัน หุ้นจะกลับสู่จุดเดิม เม็ดเงินต่างชาติพร้อมจะเข้ามาเก็บหุ้นถูก ปกติต่างชาติถือครองหุ้นไทย 30-40% เลขาก.ล.ต.ยืนยันแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้น นักวิเคราะห์เทคนิค บล.กสิกรไทย ให้แนวรับแรก 1,555 จุด  หุ้นร่วง 1.64% เกิดจากฝีมือสถายันไทยทิ้งเจ้าเดียว 3,051 ล้านบาท 

วันที่ 8 ม.ค. 2563 ตลาดหุ้นไทยดิ่งลงแรง 1.64% หรือ -25.96 จุด ปิดที่ระดับ 1,559.27 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 65,089.77 ล้านบาท เป็นการลดลงมากกว่าตลาดเอเชียหลายแห่ง เช่น ดัชนีนิเกอิ 225 ปิดที่ 370 จุด ร่วง 1.57% ฮ่องกงปิดที่ 234 จุดติดลบ 0.83% เพราะนอกจากได้รับผลกระทบจากอิหร่านตอบโต้ ยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพร่วมสหรัฐฯ-อิรัก 2 แห่งแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจไทยอ่อนแอและความกังวลเรื่องสถานการณ์การเมืองไทยซ้ำเติมตลาดด้วย

ด้านนักลงทุนซื้อขายรายกลุ่ม พบว่าสถาบันขายมากที่สุด 3,051 ล้านบาท ขณะที่ต่างชาติซื้อสุทธิถึง 2,247 ล้านบาท รายย่อยซื้อ 509 ล้านบาท และพอร์ตบล.ซื้อ 294 ล้านบาท

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส(ASP) เปิดเผยว่า นักลงทุนยังไม่ต้องรีบเข้าซื้อหุ้นในช่วงนี้ ขอให้รอดูสถานการณ์ระยะหนึ่งว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านมีโอกาสยืดเยื้อหรือไม่ หรือจะเกิดความรุนแรงมากเพียงใด หลังจากอิหร่านเพิ่งมีปฎิกิริยาตอบโต้ จนทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงวันที่ 8 ม.ค. ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์เซอร์ไพรส์ทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 1,530 จุด และในการวิเคราะห์ทางเทคนิคระดับ 1,530 จุด ก็แนวรับที่สำคัญ สัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(P/E) อยู่ที่ 16 เท่า

“ตอนนี้การตอบโต้ยังใหม่ยังสดอยู่ จึงยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์สถานการณ์ นักลงทุนควรชะลอการลงทุนก่อน และในปีนี้ยังมีความเสี่ยงกดดันหลายเรื่องทั้งในและต่างประเทศ กลยุทธ์การลงทุนต้องเลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจริงๆ หรืออาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ต้องซื้อหุ้น บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW )หรือเลือกหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนปันผล 5-7% จะปลอดภัยที่สุด เช่นบริษัทปตท.(PTT) ให้ปันผล 4%”นายเทิดศักดิ์กล่าว

ส่วนภาพรวมในปี 2563 ฝ่ายวิจัยฯประเมินกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ราว 1.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 95.71 บาท เติบโต 3.9% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาด ส่วนใหญ่เกิดจากฐานกำไรสุทธิปี 2562 ต่ำกว่าปกติ เช่นกลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพลังงาน และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สำหรับเป้าหมายดัชนีหุ้นปีนี้ ประเมินแบบอนุรักษ์นิยมไว้ในช่วง P/E บริเวณ 16.5 – 17.5 เท่าจะได้กรอบการเคลื่อนไหวบริเวณ 1,579 จุด เป็นกรอบล่าง และมี 1,675 จุด เป็นกรอบบน มี Upside เปิดกว้างสุดจากปัจจุบันราว 6.8%

ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวถึง กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 1/2563 ต้องเน้นหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุนให้ผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เช่น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) , PTT ,บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) , บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP ,บริษัท โรบินสัน (ROBINS) และบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เป็นต้น

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงข่าวว่า มีโอกาสจะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลกลับเข้ามา หลังจากปีที่แล้ว ไหลออกถึง 28%โดยในช่วงต้นปีนี้เพิ่มการถือครองหุ้นไทยประมาณ 30% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี จากในช่วงปลายปีก่อนอยู่ที่ 28-29% โดยปกติแล้วนักลงทุนต่างชาติจะถือครองหุ้นไทยประมาณ 30-40%

นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาเพราะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในระดับที่ต่ำ และสภาพคล่องอยู่ในระดับที่สูง โดยจะเห็นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ที่เพียง 1.3% ถือว่าต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากมีการวิเคราะห์เลือกหุ้นที่ให้เงินปันผลดีก็อาจจะได้รับอัตราผลตอบแทน สูงถึง 3.7% แม้ว่าในปี 2562 ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเพียง 1% แต่หากมองผลตอบแทนโดยรวม รวมกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นักลงทุนต่างชาติจะได้รับผลตอบแทนสูงถึง 8-9%

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ (8 ม.ค.)เป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ จึงอยากให้นักลงทุนติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และระมัดระวังในการลงทุนต่างๆ ตอนนี้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน ส่งผลต่อการลงทุนค่อนข้างเยอะ และอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แม้ตลาดหุ้นจะลดลงอย่างมากในวันนี้ แต่ยังมองเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อช่วงที่ราคาหุ้นลดลง โดยจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าดัชนีหุ้นใช้เวลาเพียง 3 วัน ในการกลับสู่จุดเดิม อ้างอิงจากเหตุการณ์สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ถล่มซีเรีย ในปี 2561” นายภากร กล่าว

ด้านนักวิเคราะห์ทางเทคนิค เช่น บล. กสิกรไทยให้แนวรับแรก 1,555 จุด และแนวรับสำคัญ 1,545-1,550 จุด ส่วนแนวต้านบริเวณ 1,565 จุด กลับมาทำหน้าที่เป็นระดับแนวต้านแรก และมีระดับแนวต้านถัดไปที่ บริเวณ 1,575 จุด ทั้งนี้นักวิเคราะห์ทางเทคนิคประเมินว่า หากดัชนีหลุด 1,560 จุด ให้ชะลอลงทุน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ดัชนีหุ้นปรับตัวลงไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งเกิดจากความกังวลสถานการณ์ในตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน โดย ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุการณ์ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการลงทุน รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง

ก.ล.ต. ขอแนะนำให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากข้อตกลงการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี และการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวด้วยเช่นกัน ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ (0.68%) หนี้สาธารณะยังคงอยู่ในระดับต่ำ (40.9%) และดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล (6.8% ต่อ GDP) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำหรับตลาดการเงิน นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ จำนวน 7,610 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2563

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2562 ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่นเดียวกับตลาดส่วนใหญ่ในอาเซียน ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยทำสถิติสูงสุดใหม่ ด้วยมูลค่าซื้อขายต่อวันสูงสุดที่ 2 แสนล้านบาท (ณ วันที่ 28พ.ค. 2562) เนื่องจากการปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยใน MSCI และตลอดทั้งปีมีสภาพคล่องสูงที่สุดในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังคงเป็นผู้นำในด้านการระดมทุนครั้งแรก (IPO) โดยการเข้าจดทะเบียนของ AWC มีมูลค่าระดมทุนสูงที่สุดในภูมิภาค และสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ไทย นอกจากนี้ การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (SPO) ด้วยมูลค่ารวม 3.1 แสนล้านบาทซึ่งมากกว่ามูลค่า IPO เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 2562 เพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อน รวมถึงบจ.เริ่มมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ มีบริษัทอยู่ใน MSCI 41 บริษัท ถือเป็นจำนวนที่สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ เข้าไปอยู่ใน DJSI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนพิ่มขึ้นอีกด้วย