HoonSmart.com>> “ฟิทช์ เรทติ้งส์” มองเชิงลบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย สถานะทางการเงินอ่อนผู้ประกอบการส่วนใหญ่อ่อนตัวลง เหตุจ่ายคลื่นความถี่สูง กระแสเงินสดของกลุ่มธุรกิจแนวโน้มติดลบในปี 63 ด้านการเติบโตรายได้อยู่ระดับต่ำ คาด 9 เดือนปี 63 โต 2.5% กดดันกำไรผู้ประกอบ
บริษัท ฟิทช์ เรทติงส์ เปิดเผยว่า อัตราส่วนหนี้สินของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยน่าจะปรับตัวแย่ลงในปี 2563 กระแสเงินสดสุทธิน่าจะปรับตัวเป็นลบเนื่องจาก กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เติบโตช้าไม่น่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และค่าคลื่นความถี่ที่ปรับตัวสูงขึ้น ประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากการให้บริการข้อมูลที่อยู่ในระดับต่ำ และตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว จะสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของรายได้ และกำไรของผู้ประกอบการ
ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt to EBITDA) โดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.1 เท่า ในปี 2563 (ประมาณการของปี 2562 อยู่ที่ 1.8 เท่า) สำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 ราย ซึ่งได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (อันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมุ่งเน้นในการเพิ่มการทำกำไร และปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สิน เพื่อรักษาเงินสดสำหรับการลงทุนในระบบ 5G ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามโครงข่ายระบบ 4G น่าจะยังคงเป็นเทคโนโลยีหลักในประเทศไทยในการรองรับการให้บริการด้านข้อมูลในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
การแข่งขันน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 เนื่องจากกระแสเงินสดสุทธิที่ติดลบน่าจะเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบในการเพิ่มแข่งขันให้รุนแรง นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการน่าจะรักษาระดับการแข่งขันให้ไม่สูงมากนักก่อนช่วงที่จะมีการลงทุนที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าการเติบโตของรายได้ของอุตสาหกรรมน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2563 (ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 2.5) ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจะต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้จากการให้บริการข้อมูล เนื่องจากตลาดกำลังเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว โดยจำนวนผู้ใช้บริการด้านข้อมูล และปริมาณการใช้ข้อมูล มีการเติบโตในอัตราที่ต่ำลง ในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้ใช้อุปกรณ์ 4G เพิ่มมากขึ้น
อ่านข่าว
JAS ผนึก DTAC ให้บริการลูกค้าเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่มีขีดจำกัด
โบรกฯ มองต่างมุม JAS ผนึก DTAC “เอเซียพลัส” แนะจังหวะขาย JAS