ตามคาด เงินเฟ้อเดือนพ.ค.เร่งตัว ขยายตัว 1.49% เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. 0.56% นักวิเคราะห์ระบุปัจจัยน้ำมันและเงินบาท ปลายปีมีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือ (CPI) เดือน พ.ค. 2561 อยู่ที่ 102.14 ขยายตัว 1.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.56% จากเดือนเม.ย. และรวม 5 เดือน ขยายตัวเฉลี่ย 0.89%
ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.17 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.14
ส่วน CORE CPI เดือน พ.ค. อยู่ที่ 101.95 ขยายตัว 0.80 % และ 5 เดือนแรก ขยายตัวเฉลี่ย 0.66%
การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดแนวโน้มยังคงปรับตัวขึ้น โดยทางบล.เอเซียพลัส คาดว่าน่าจะค่อยๆขยับขึ้นจนถึงราว 2% ในเดือน ก.ย. เนื่องจากราคาน้ำมันที่เกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าสมมุติฐานราคาน้ำดิบที่กำหนดไว้ราว 65 เหรียญ และเงินบาทกลับมาอยู่ในทิศทางอ่อนค่า อาจกดดันคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ต้องทบทวนการใช้นโยบายการเงินอ่อนตัว โดยน่าจะมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ถือเป็นปัจจัยกดดันตลาดระยะสั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561 ซึ่ง คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยเห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 4.75% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 แล้วในเดือนพ.ค. เและมีเป้าหมายที่จะคงค่าเงินรูเปียห์ให้มีเสถียรภาพ คาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2.5-4.5%