HoonSmart.com>>BAM เบอร์ 1 บริหารสินทรัพย์ในประเทศไทย มีจุดเด่นมากกว่าที่คาด ซื้อทรัพย์สินได้ราคาต่ำ กอด NPL 1.8-1.9 แสนล้านบาท ต้นทุนแค่ 7.4 หมื่นล้านบาท NPA 5 หมื่นล้านบาท ต้นทุน 2.1 หมื่นล้านบาท โอกาสสร้างกำไรสูง แถม 3 กลยุทธ์โตยั่งยืน จ่ายปันผลเกิน 60% เหมาะแก่การลงทุน ธุรกิจโตได้ทั้งเศรษฐกิจขาขึ้น-ขาลง เดินสายโรดโชว์ให้ข้อมูลสถาบันต่างประเทศ ที่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ลอนดอน สหรัฐ เจาะกลุ่มผู้ซื้อหุ้น IPO
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นไฟลิ่งไปเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 โดยจะเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก( IPO) รวมกันไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น (รวมหุ้นจัดสรรส่วนเกิน 230 ล้านหุ้น) มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท คิดเป็นสัดส่วน 54.4% ขอหุ้นที่เรียกชำระแล้ว เพื่อนำเงินไปซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เพิ่มปีละ 1 หมื่นล้านบาท ชำระคืนเงินกู้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ประธานกรรมการ กล่าวว่า การขายหุ้นครั้งนี้ ไม่มีการรับประกันการจำหน่าย แต่มั่นใจว่าเป็นหุ้นที่ดี จุดเด่นของ BAM อยู่ที่การเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่ 47.3% ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี กำไรเติบโตต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท สินทรัพย์ขยายตัวเฉลี่ย 7 %ต่อปี ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวม1.07 แสนล้านบาท แบ่งเป็น NPL กว่า 7 หมื่นล้านบาท และ NPA กว่า 2 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างยั่งยืน มีโอกาสทางธุรกิจทั้งในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) 1.4 เท่าต่ำกว่าที่บอร์ดกำหนดไว้ไม่เกิน 2 เท่า และจ่ายเงินปันผลสูงไม่เคยต่ำกว่า 60% ของกำไรสุทธิ ขณะที่นโยบายกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ ทำให้หุ้น BAM น่าสนใจได้รับผลตอบแทนที่ดี
ทั้งนี้ จากข้อมูลผลการดำเนินงานในปี 2560 บริษัทจ่ายเงินปันผลในอัตรา 80.79% ของกำไรสุทธิและเพิ่มเป็น 97.77% ในปี 2561 ส่วนภาพรวมของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.8% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันราคาที่ดินทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 27.7% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
” ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีเสน่ห์ เราได้ทรัพย์มาในปีแรก มีการประเมินคุณภาพและราคาทรัพย์สิน หลังจากนั้นมีการนัดพบลูกค้ามาพูดคุยเจรจา แก้ให้คุณภาพดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ระยะยาว เป็น 10 ปี เราบริหารงานภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มความแข็งแกร่ง คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายฐานทรัพย์สิน
เลือกที่มีศักยภาพสูง ทำให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น และยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร “นางทองอุไรกล่าว
ประธานกรรมการกล่าวว่า บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และการแปรรูปจากที่มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ถือหุ้นทั้งหมด มาเป็นเอกชน จะเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ช่วยให้ BAM ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ห่วงเรื่องอันดับเครดิตจะลดลง เพราะการเป็นเอกชนเต็มตัวทำให้งบการเงินเข้มแข็ง และก่อนหน้านี้ได้ขายหุ้นกู้ทั้งสั้นและอายุยาว 10 ปี ได้ดอกเบี้ยที่ดีมาก นักลงทุนรับรู้เรื่องการแปรรูปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับการขายหุ้น IPO นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าบริษัทจะเริ่มเดินสายโรดโชว์พบนักลงทุนต่างประเทศ 4 ประเทศ ได้แก่สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นกลุ่มนักลงทุน Cornerstone มีบล.ยูบีเอสเป็นที่ปรึกษา เพื่อนำเสนอข้อมูลและสำรวจความต้องการซื้อหลักหุ้น BAM
” BAM เป็นมืออาชีพในการเร่งขาย NPA 4-5 พันล้านบาท/ปี แต่ธุรกิจหลัก ยังเป็นการขายและบริหาร NPL สร้างรายได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท ปัจจัยที่ท้าทายคือการกำหนดราคาทรัพย์สินที่ถูกต้อง คือมีกำไรและความเสี่ยงไม่มาก ที่ผ่านมา เราเคยมีที่ดินเปล่าถึง 70% ตอนนี้ลดลงมาเรื่อย 20% ขายได้ดีมาก เช่น ที่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC) บางแปลงมูลค่ากระโดดหลายเท่าตัว จาก 40 ล้านบาท เพิ่มเป็น 400 ล้านบาท ที่ดินที่เหลือเป็นแปลงย่อยๆ เราก็พัฒนาเป็นสมาร์ทโฮม และตอบสนองสังคมผู้สูงวัย กระตุ้นยอดขาย มีทีมการตลาดที่เข้มแข็ง จากประสบการณ์กว่า 20ปี และเครือข่ายทั่วประเทศมากที่สุดรวม 26 แห่ง “นายสมพรกล่าว
นายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทมี NPL 1.8-1.9 แสนล้านบาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 7.4 หมื่นล้านบาท และมี NPA มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ต้นทุนอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท มีโอกาสในการสร้างกำไรได้อีกมาก ในปี 2561 บริษัทมีกำไรสุทธิแตะ 5,000 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 53% ไตรมาส 1/2562 มีกำไรสุทธิ 3,246 ล้านบาท NPA มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 17% และ NPL โต 4%
ทั้งนี้ BAM ระบุว่า ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในปี 2559-ไตรมาส 1/62 มาจากอัตรากำไรขั้นต้น สูงถึง 85.79% 78.67% 81.84% และ 90.72% ตามลำดับ ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 55.96% 59.02% 53.35% และ 67.77% ROE อยู่ที่ 12.10% 11.03% 12.55% และ 29.87%
ส่วนรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 7,000-9,000 ล้านบาทต่อปี ในไตรมาส 1/2562 ทำได้ 4,700 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีจำนวน 1,600 ล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น(ROE) 12% และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) อยู่ที่ 5% นับว่าสูงมาก
นายทินพันธ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวว่า บริษัทได้จัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น เพื่อป้องกันความผันผวนของราคาหุ้นหากภาวะตลาดมีความผันผวน และมองว่าความน่าสนใจของ BAM ยังเป็นเรื่องการเติบโตของผลการดำเนินงาน และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในอุตสาหกรรมที่ BAM เป็นผู้นำในตลาด และผลตอบแทนจากเงินปันผลในอัตราสูง
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทฯ ได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPL) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวน 90,562.65 ล้านบาท โดยสามารถเรียกเก็บเงินสดได้จำนวน 122,931.74 ล้านบาท
ในปี 2561 BAM มีเงินสดรับจากธุรกิจ NPL และ NPA รวมทั้งสิ้น 16,569.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 13,515.74 ล้านบาท คิดเป็น 22.59% ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 BAM มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ NPL จำนวน 74,482.33 ล้านบาท หลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 1 187,875.26 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิ NPA 21,731.04 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 150,287.17 ล้านบาท