HoonSmart.com>>ดาว-ปูนซิเมนต์ไทย ลงนามข้อตกลงร่วมมือพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติก เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การสร้างโรงงานยังไม่มีข้อสรุปเรื่องเงินลงทุน “รุ่งโรจน์” เสนอ 4 แนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนยั่งยืน
บริษัท ดาว ร่วมกับ ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก ป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา
มร.จิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว เปิดเผยว่า ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ดาว และ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก เพื่อลดปริมาณการรั่วไหลของพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) การรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) และการนำวัตถุดิบหมุนเวียนมาผลิตพลาสติก (Renewable Feedstock) ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะพลาสติก วัตถุดิบปิโตรเคมีจากขยะพลาสติก เม็ดพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมและทุกคนในสังคมจำเป็นต้องช่วยกันนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการจัดเก็บและการจัดการขยะอย่างถูกวิธี โดยต้องลงทุนในด้านเทคโนโลยีในการจัดเก็บ การบริหารจัดการขยะ การรีไซเคิล ตลอดจนการหาตลาดใหม่ ๆ ให้กับขยะพลาสติก ปัจจุบัน ดาว ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกในการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์และรีไซเคิลใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานร่วมกับ SCC จะช่วยทำให้โลกไม่มีขยะพลาสติกตกไปสู่สิ่งแวดล้อม
ทางด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งเป็นโซลูชั่นเพื่อการรีไซเคิล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย ขับเคลื่อนระบบพลาสติกหมุนเวียนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน
“ดาวและเราเป็นพันธมิตรกันมานานแล้ว ทั้ง 2 บริษัทมีประวัติยาวนาน การเซ็น MOU เป็นโอกาสดีที่สร้างพลัง ต้องการทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะลดปริมาณพลาสติกในแหล่งน้ำ ทะเล หากไม่ทำจะเกิดผลกระทบระยะยาว คาดว่าผลการศึกษาจะออกมาปลายปีนี้ ส่วนมูลค่าการลงทุนสร้างโรงงาน ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก เนื่องจากจะต้องได้ผลการศึกษาและนำมาทดลองก่อน รวมถึงปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วัตถุดิบ” นายรุ่งโรจน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการแก้ปัญหา ดาวและบริษัทปูนซิเมนต์ไทยคงไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายและมีการดำเนินการ 4 เรื่องคือ 1. การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องทำร่วมกัน 2 .การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หรือหากจะมีการปรับปรุงกฎหมาย ภาคเอกชนยินดีที่จะให้ข้อเสนอแนะ 3. การให้แรงจูงใจกับภาคเอกชนหากมีการรีไซเคิล เป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า และ 4.การขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย การให้ความรู้แก่เด็ก แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาดำเนินการ โจทย์ที่ยากคือการคัดแยกขยะ