ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณเติบโตขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่คนระดับรากหญ้ายังมีปัญหาการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเพราะภาระหนี้ที่ยังสูงหรือค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น เช่น ค่าพลังงาน อาหาร ฯลฯ แต่แม้ว่าคนไทยเราอาจจะใช้จ่ายลดลง แต่ก็อาจมีค่าใช้จ่ายบางอย่างของคนไทยจ่ายมากเกินไป แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแต่ถ้าเราจ่ายมากเกินไป ก็จะเป็นการจ่ายเกินจำเป็น ย่อมไม่ดีต่อความมั่นคงทางการเงินของเราแน่ๆ ดังนั้นหากเราอยากมีความมั่นคงทางการเงิน ก็คงต้องรีบกลับมาจริงจังกับเรื่องเงินของเรา ว่าทำอย่างไรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือ ทำอย่างไรเงินในกระเป๋าจะปลอดภัย ไม่หายไปกับสิ่งที่ไม่ควรเสีย
WARREN BUFFETT ปรมาจารย์ด้านการลงทุนเคยกล่าวไว้ว่า
If you buy things you don’t need, soon you will have to sell things you need.
“ตราบใดที่เรายังใช้จ่ายเงินในสิ่งที่ไม่จำเป็น อีกไม่นานเราต้องขายของที่จำเป็นเพื่อเอาเงินมาใช้จ่าย”
ดังนั้นการดูแลเรื่องการใช้จ่ายก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่เชื่อมั๊ย หลายๆค่าใช้จ่าย เราเองก็ยังจ่ายเกินโดยไม่ได้ฉุกคิด วันนี้เลยอยากเอา 8 รายการสามัญในชีวิตที่เราอาจจ่ายเกินที่ผมได้มาจากสรรพากรสาส์นมาแชร์กันดูครับ
1.ภาษีเงินได้ รู้มั๊ยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมืองไทยแพงอันดับต้นๆใน AEC ต่อให้ลดเหลือ 35% ก็ยังแพงมากอยู่ดี ถ้าเรารู้สึกว่าเราเสียภาษีเยอะเกิน เราก็ต้องมาดูกันว่าเราทำในเรื่องดังต่อไปนี้รึเปล่า ถ้าใช่ เปลี่ยนบ้างก็ได้นะ
ก.ทุกปีขอภาษีคืนเยอะไปหรือเปล่า ถ้าใช่ รู้รึเปล่า เมื่อไรก็ตามที่เราขอภาษีคืน เท่ากับเราให้กรมสรรพากรยืมเงินใช้โดยเราไม่คิดดอกเบี้ย ก็ถ้าเราสามารถขอภาษีคืนได้ แสดงว่าภาษีนั้นเป็นเงินของเราที่จ่ายให้กรมสรรพากรมากเกินไป สมมติเราจ่ายภาษีในเดือนมกราคมเกินไป 5000 บาท กว่าเราจะได้คืน ก็อาจเดือนมีนาคมปีถัดไป รวม 14 เดือน ตอนกรมสรรพากรคืนก็คืนเฉพาะภาษีที่จ่ายเกินไม่เห็นให้ดอกเบี้ยเราเลย ดังนั้นครั้งต่อไป อย่าจ่ายภาษีเยอะเกินไปนะ วิธีง่ายๆบอกฝ่ายบุคคลให้ถูกต้องครบถ้วนว่า เราจะมีค่าลดหย่อนต่างๆเท่าไหร่ให้ครบ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีเกิน มีเงินเหลือในแต่ละเดือนไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า
ข.ใช้สิทธิลดหย่อนครบถ้วนยัง วิธีง่ายๆที่จะประหยัดภาษี คือ การใช้สิทธิลดหย่อน เช่น ซื้อ RMF, LTF, ประกันชีวิต หรือ บริจาค เป็นต้น รู้รึเปล่า ถ้าฐานภาษีอยู่ 20% ทุก 10,000 บาทที่ซื้อ RMF, LTF หรือประกันชีวิต นอกจากเราจะได้ประโยชน์เองแล้ว กรมสรรพากรยังให้แต๊ะเอียเราอีก 2,000 บาท
2.บ้านที่อยู่อาศัย บ้านแม้จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้ามีมากเกินไปก็จะเป็นสิ่งเกินจำเป็น ผมเคยเจอท่านหนึ่งมีบ้าน 3 หลังโดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย 2 หลัง แทนที่มีบ้านจะยิ่งมั่งคั่ง กลับยิ่งจน เพราะมีค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่า ค่าส่วนกลาง ค่ารักษามิเตอร์ ฯลฯ วันก่อนไปสัมมนาที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เปิดให้ผู้สนใจสามารถซื้อบ้านพักได้ ปรากฎว่ารีสอร์ทนั้นภายหลังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เงียบมาก มีคนเข้าพักน้อยมาก สภาพทรุดโทรม เห็นแล้วทำให้คิดว่า แล้วคนที่ซื้อบ้านพักไป ยังอยากมาพักอีกเหรอ ไม่ต้องคิดว่าขายต่อจะมีกำไรรึเปล่าเลย เทียบกับไม่ต้องซื้อบ้านเก็บไว้ อยากเที่ยวไหน ก็เที่ยว เปลี่ยนที่พักไปเรื่อยๆ ไม่ดีกว่าเหรอ
ดังนั้นถ้าซื้อบ้านเพื่ออยู่ ก็ ok แต่ถ้าซื้อเพื่อกะขายต่อ ก็ระวังด้วย เพราะบ้านซื้อง่าย ขายยาก ยิ่งทำเลไม่ดี โอกาสขายได้ยิ่งน้อย โอกาสกำไรยิ่งน้อยใหญ่ หรือ จะซื้อเพื่อปล่อยเช่ารายวัน ศาลก็เพิ่งตัดสินกรณีคอนโดที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ปล่อยให้เช่าแบบรายวันและรายสัปดาห์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าการนำห้องชุดไปให้เช่ารายวันและรายสัปดาห์ จะมีความผิดในข้อหาประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ดังนั้นจะลงทุนซื้อบ้าน คิดให้ดีก่อนนะครับ
วันนี้ขอจบแค่ 2 ข้อก่อนนะ ครั้งหน้ามาคุยอีก 6 ข้อที่เหลือกัน