GPSC เพิ่มทุนรับลงทุน 5 ปี คืนหนี้ลดดอกเบี้ย ปันผลเพิ่ม

HoonSmart.com>> GPSC มั่นใจเพิ่มทุน 7.4 หมื่นล้านบาท รองรับแผนลงทุนอย่างน้อย 5 ปี  กำลังผลิตเพิ่มเป็น 5,400 MW  คืนหนี้สั้น 1.3 แสนล้านบาท  หยุดภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ 3,000 ล้านบาท หันไปออกหุ้นกู้-ยืมเงินยาวขึ้น 6 หมื่นล้านบาท กระแสเงินสดเพิ่มขีดความสามารถจ่ายปันผลมากขึ้นปี 2563  อันดับโรงไฟฟ้าไต่ขึ้นจาก 4 ติด 1ใน 3 ใน 5 ปี  ปตท.ให้โจทย์เพิ่ม 8,000 MW 

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า การเพิ่มทุนเกือบเท่าตัว มูลค่า 7.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ระยะสั้นที่กู้มาซื้อบริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) จำนวน 1.3 แสนล้านบาท  ภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ 3,000 ล้านบาท และรองรับแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2562-2566) ทำให้มีกำลังผลิตในมือเพิ่มเป็นประมาณ 5,400 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4,986 เมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน บริษัทจะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น จากเดิมบริษัทมีจำนวน 5,000 ล้านบาท/ปี  มีของ GLOW เพิ่มเข้ามาอีก 1 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายเงินปันผลมากกว่าที่ผ่านมา สำหรับผลประกอบการปี 2563 เป็นต้นไป แม้ว่าจำนวนหุ้นเพิ่มทุนมากขึ้นก็ตาม

“ตามแผนเพิ่มกำลังการผลิต เราจะใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท  จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนใหม่ ส่วนการคืนหนี้ระยะสั้น แปลงเป็นหนี้ระยะยาวจำนวน 6 หมื่นล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4 อาจจะขอสินเชื่อ หรือหุ้นกู้อายุ 10 ปี  ปัจจุบันบริษัทมีหนี้ระยะยาวคือหุ้นกู้  5,000 ล้านบาท อายุ 4 และ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.4-2.8% ต่อปี  และลด สัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) จาก 2.5 เท่า เหลือ 1 เท่า ตามนโยบายของกลุ่มปตท.”นายชวลิตกล่าว

บริษัทเป็นเรือธงของกลุ่มปตท.ในการทำธุรกิจไฟฟ้า เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ทางปตท.มอบหมายให้บริษัทเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 8,000 MW เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดคาร์บอน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตประมาณ 10% หรือ 510 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ปตท.ยังมอบนโยบายให้บริษัทลงทุนในธุรกิจในอนาคต แบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจไฟฟ้า

นายชวลิตกล่าวว่า  หลังรวมโกลว์บริษัทมีส่วนแบ่งด้านกำลังผลิตไฟฟ้าอันดับ 4 ของประเทศ ตั้งเป้าที่จะขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ภายใน 5 ปีนี้ โดยสนใจลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สในเมียนมา รวมถึงเวียดนามและไต้หวันที่เปิดให้ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์)

ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,986 MW โดยมีโคงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายโครงการที่จะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 ขนาดกำลังการผลิต 65 MW เป็นการถือหุ้นของบริษัท 40% คิดเป็น 26 MW โรงไฟฟ้าไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 MW เป็นของบริษัท 25% หรือ 321 MW ศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จังหวัดระยอง แห่งที่ 4 (CUP4) กำลังผลิต 45 MW ไอน้ำ 70 ตัน/ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครการที่จะทยอย COD ในปี 2563-2564 และ 2566 ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร 18 MWส่วนขยายโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF 10 MW และหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU 250 MW ในปี 2566

ด้านราคาหุ้น GPSC วันที่ 30 ก.ค. ปรับตัวลง 3.50 บาทหรือ 4.95% อยู่ที่ 67.25 บาท หลังจากบอร์ดมีมติเพิ่มทุนเกือบเท่าตัว โดยออกหุ้นใหม่ เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม สัดส่วน 1 ต่อ 0.8819 ในราคาหุ้นละ 56 บาท ให้ส่วนลด 20% จากราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วันทำการ

อ่านประกอบ

GPSC เพิ่มทุน 7.4 หมื่นลบ. ขาย 1 ต่อ 0.8819 ราคา 56 บาท

บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง มองดี GPSC ระยะยาว เป้า 77 บาท เชื่อเพิ่มทุนสำเร็จ