สัญญาณอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ปรับทิศทางจากขยับ “ขึ้น” มาสู่การ “ปรับลง” เป็นปัจจัยหนุนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกในครึ่งปีหลัง ทว่าตลาดหุ้นไทยออกตัวแรงปรับตัวขึ้นเร็ว 10% ช่วงครึ่งปีแรก ทำให้อัพไซด์จำกัด กลยุทธ์ “กระจายความเสี่ยง” ไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ เป็นโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตโดยรวม
FED ขับเคลื่อนหุ้นโลก
“ปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นทั่วโลกในตอนนี้ คือ FED จากปีก่อนนักลงทุนทั่วโลกเชื่อว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น แต่ 6 เดือนต่อมาเฟดกลับลำและตลาดมองอาจปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนก.ค.นี้ในอัตรา 0.50% ดังนั้น เมื่อ FED เปลี่ยนท่าที ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกส่งสัญญาณนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และประเทศเพื่อนบ้านเราก็เริ่มลดดอกเบี้ยกันบ้างแล้ว” นายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอกแคปปิตอล (BCAP) กล่าว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงเรื่อง “สงครามการค้า” คนเริ่มกลัวน้อยลง ประกอบกับคาดว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” คงไม่ทำอะไรรุนแรงมากขึ้น เพราะจะมีการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีหน้า ส่วนความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หลังจากเศรษฐกิจเป็นขาขึ้นมาตลอด 10 ปีนั้น ก็เชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อย หรืออาจจะยังไม่เกิดขึ้นเร็วตามที่กังวล จากสถิติก่อนเกิด Recession ธนาคารกลางทั่วโลกจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ตามทิศทางเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป แต่ในรอบนี้ธนาคารกลางทั่วโลกยังมีเครื่องมือเพียงพอดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ล่าสุด บลจ.บางกอกแคปปิตอล ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นโลกเป็น Neutral จากเดิม Underwieght ปัจจัยสนับสนุนจากทิศทางดอกเบี้ยของ FED และคาดว่าการประชุมในวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ มีโอกาสลดดอกเบี้ยลง 0.25% “นายธนาวุฒิ กล่าว
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ เพราะต้องระมัดระวังการเร่งตัวของหนี้ภาคครัวเรือน ส่วนเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลเข้าไทยจนเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วนั้น เป็นเพราะประเทศไทยมีเสถียรภาพเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าธปท.คงพยายามดูแลและส่งสัญญาณไปยังนักลงทุนต่างประเทศจากการออกมาตรการช่วงที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินบาทเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น
นอกจากนี้อีกสาเหตุที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทยช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก MSCI ปรับวิธีคำนวณ NVDR ทำให้เงินไหลเข้ามาลงทุนตามดัชนีที่ถูกปรับเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันเงินลงทุนทั่วโลกอยู่ในกองทุน Index Fund สัดส่วนถึง 50% จาก 15 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเพียง 5% ดังนั้นเงินส่วนนี้จึงมีผลต่อตลาด ซึ่งหุ้นไทยจึงได้อานิสงส์จาก MSCI ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ช่วงครึ่งหลังนี้ MSCI จะเพิ่มน้ำหนักหุ้นจีนตามที่ประกาศไว้ ซึ่งจะทำให้เงินไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย เพื่อเข้าตลาดหุ้นจีน
หุ้นไทยอัพไซด์จำกัด กำไรบจ.โตไม่เกิน 5%
นายธนาวุฒิ กล่าวถึงมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า ดัชนีมีอัพไซด์จำกัด และยังคงน้ำหนัก Underwieght เนื่องจากคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปีนี้จะเติบโตไม่ถึง 5% ตามภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัว จากครึ่งปีแรกภาพรวมไม่ค่อยดีนัก นักท่องเที่ยวลด เงินบาทแข็งค่ากระทบส่งออก รวมทั้งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มมีการตั้งสำรอง แต่ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกจากการมีรัฐบาลและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งหนุนตลาดหุ้น
“ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาก จึงอาจเห็นการพักฐานบ้างก่อนไปต่อ แต่คงไปได้ไม่มาก จากกำไรบจ.และฟันด์โฟลว์ที่ไม่น่าตื่นเต้นมากนัก ดังนั้นการกระจายความเสี่ยง จึงสำคัญที่สุด รวมทั้งต้องเลือกรายตัว เลือกธุรกิจยังมีโอกาสและต้องกระจายลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป”นายธนาวุฒิ กล่าว
สำหรับมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เพิ่มน้ำหนักการลงทุน (Overwieght) ตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากคาดว่ากำไรบจ.ปีนี้เติบโต 15% และราคาหุ้นไม่แพง ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมาเติบโตสูงจากนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จึงมองปีนี้อาจไม่ได้ดีเท่าปีก่อน พร้อมกันนี้แนะนำเลี่ยงลงทุนตลาดหุ้นแถบประเทศเอเชียเหนือ เช่น ไต้หวัน จีน จากผลกระทบสงครามการค้า จนกว่าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ส่วนกลุ่มหุ้นที่ชอบ คือ Domestic Consumption เช่น บริษัทขนาดกลางในญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศ ไม่ได้พึ่งพาการส่งออก พร้อมทั้งลดน้ำหนักหุ้นเทคโนโลยี เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นไปมาก
ด้านการลงทุนในทองคำ ลดน้ำหนักเป็น Neutral เนื่องจากภาพเปลี่ยนความไม่แน่นอนในตลาด ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศพยายามลดน้ำหนักถือครองเงินสหรัฐฯ และหันไปถือทองคำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางจีนและยุโรปตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาทองคำปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก 7-8%
นักลงทุนตอบรับ “กองบีแคป โกลบอล เวลท์”
หลังจากบลจ.บางกอกแคปปิตอล เปิดตัวกองทุนเปิดบีแคป โกลบอล เวลท์ (BCAP Global Wealth) ซึ่งมีนโยบายลงทุนครอบคลุมสินทรัพย์ทั่วโลก ภายใต้กลุยทธ์ Global Asset Allocation ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุนที่สามารถเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยง 5 ระดับผ่าน 5 ซีรี่ส์กองทุน
“ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนต่อเนื่องจนขนาดกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 ล้านบาท จากช่วง IPO มีขนาด 1,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้เราอยากนำเสนอเป็นกองทุนหลักให้แก่นักลงทุน ซึ่งนักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนได้ตามซีรี่ส์ บนความเสี่ยงที่รับได้ โดยที่ผ่านมาพบว่ากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น 50% และ 25% จะได้รับความสนใจสูงสุดตามลำดับ”นางเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บลจ.บางกอกแคปปิตอล กล่าว
นอกจากนี้จากกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงของกองทุนที่สามารถลงทุนหลายสินทรัพย์ทั้งหุ้น ตราสารหนี้และสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งมีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้เลือกลงทุนและคอยดูแลปรับพอร์ตการลงทุนให้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้กองทุนทำผลงานได้ดีกว่าเกณฑ์อ้างอิงในทุกซีรี่ส์
นางเมธ์วดี กล่าวว่า หลังจากนี้บริษัทฯ เตรียมนำเสนอกองทุนใหม่ซึ่งต่อยอดจากกองทุนหลัก โดยจะเสนอขายกลุ่มไฮเน็ตเวิร์ค จึงคาดว่าสิ้นปีนี้มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) จะแตะ 40,000 ล้านบาท ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันอยู่ที่ 36,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากสิ้นปี 2561
อย่างไรก็ตามบลจ.บางกอกแคปปิตอล ยังไม่ได้พับแผนการนำเสนอกองทุน Exchange Traded Fund (ETF) ใหม่ๆ ให้แก่นักลงทุนเพียงแต่รอจังหวะและภาวะตลาดที่เหมาะสม จากปัจจุบันบริษัทฯ มีกองทุน ETF ที่ลงทุนตามดัชนี SET100 , กองทุน ETF ที่ลงทุนตามดัชนี MSCI Thailand ซึ่งมีขนาดกองทุน 1,300 ล้านบาทและกองทุน ETF เน้นลงทุนในหุ้นที่มีขนาดกลางและเล็กที่มีธรรมาภิบาล เป็นอีกทางเลือกให้แก่นักลงทุนที่ชอบการลงทุนแบบ PASSIVE Fund