โดย…ณัฏฐะะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
อังกฤษ เพิ่งได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเราคงได้อ่านเรื่องราวของเขากันเยอะแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเลยอยากเขียน “บทส่งท้าย” ให้กับอีกคนซึ่งเพิ่งกลายเป็น “อดีตนายกฯ” อย่างเป็นทางการ
เทเรซา เมย์ …ใครจะรู้? เบื้องหลังฉาก เธออาจเสียสละมากกว่าที่คนคิด!
Peter Kellner อดีตประธานสำนักโพลชื่อดัง YouGov เผยผลศึกษาเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับ BREXIT ชี้ให้เห็นว่า “ส่วนต่าง” จำนวนคะแนนเสียงของฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษออกจากอียู (Leave) ซึ่งมากกว่าฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไป (Remain) เกือบๆ 1.3 ล้านเสียง ในการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์ 23 มิ.ย. 2016 นั้นน่าจะลดลงเรื่อยๆ ด้วยอัตรา 1,350 คนต่อวันหรือเกือบ 5 แสนคนต่อปี (สมมุติว่าผู้ลงคะแนนไม่เปลี่ยนใจ) เพราะ “วัย” เป็นปัจจัยสำคัญที่แบ่งข้าง หนุ่มสาวส่วนใหญ่โหวต Remain แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่โหวต Leave ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปฝ่าย Leave จึงทยอยลดลงตามธรรมชาติ (หมดอายุขัย) สวนทางกับฝ่าย Remain ซึ่งได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะวัยรุ่นทยอยอายุถึงเกณฑ์มีสิทธิลงคะแนน
เวลาผ่านมา 3 ปีกว่า แค่ปัจจัย “โครงสร้างประชากร” ก็คงพอที่จะพลิกผลโหวตได้แล้ว หากนายกฯใหม่เจรจาข้อตกลงแยกทางกับอียูไม่ลงตัว จนต้องกลับมาถามประชาชนด้วยการทำประชามติรอบสองว่าจะ “แยกแบบไร้ข้อตกลง” หรือจะ “อยู่ต่อ” …ผมเชื่อว่าถ้าเปิดโหวตใหม่จริง อังกฤษก็มีโอกาสสูงที่จะยังคงเป็นสมาชิกอียูต่อไป
คิดนอกกรอบ… เทเรซา เมย์ อาจทำดีที่สุดแล้ว แม้สังคมประณามว่าเธอล้มเหลวเรื่องข้อตกลงอียู …ก็เพราะเธอคนนี้มิใช่หรือ? ที่ยื้อกระบวนการเจรจาให้ลากยาวมาได้ตั้ง 3 ปี ช่วยเพิ่มโอกาส “ล้มโต๊ะ” BREXIT!
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผลประชุม 25 ก.ค. คงนโยบายการเงิน พร้อมส่งสัญญาณเตรียมลดดอกเบี้ยลงจากระดับต่ำประวัติการณ์ในปัจจุบัน และอาจเริ่มโครงการซื้อสินทรัพย์รอบใหม่ถ้าจำเป็น รวมถึงพิจารณา “แบ่งดอกเบี้ยเป็นชั้นๆ” เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ อันเนื่องมาจากดอกเบี้ยติดลบ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดอกเบี้ย ปริมาณการซื้อสินทรัพย์ และกำหนดเวลาที่แน่นอน ยังไม่ได้เปิดเผย ทั้งนี้ ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์โดย Bloomberg คาดการณ์ว่า ECB น่าจะลดดอกเบี้ยลง 0.10% ในเดือน ก.ย. พร้อมกับประกาศซื้อสินทรัพย์รอบใหม่อายุโครงการ 1 ปี เริ่ม ม.ค. 2020
มาริโอ ดรากี ประธาน ECB ซึ่งกำลังจะหมดวาระสิ้นเดือน ต.ค. ช่วงหนึ่งของถ้อยแถลงหลังประชุมกล่าวว่า เศรษฐกิจ “แย่ลงและแย่ลง” …เสียงอื้ออึงในตลาดเริ่มกล่าวโทษว่าเขาเข้ามา “ทำลายงานปาร์ตี้” ดูซิ…หุ้นยุโรปพุ่งขึ้นรับผลประชุมได้แค่ชั่วโมงเดียว พอได้ยินดรากีพูดก็กลับร่วงลงมาจนปิดลบ! ผมคิดว่าข้อกล่าวหานี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะใครๆก็รู้ว่าเศรษฐกิจยุโรปแย่ ดรากีพูดแบบนี้เพื่อย้ำจุดยืนว่า “ต้องกระตุ้นโดยเร่งด่วน”
สาเหตุแท้จริง ที่ทำให้ตลาดหุ้นไม่ค่อยดีใจ (ในมุมมองของผม) ก็เพราะ ECB ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบาย “การเงิน” ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้น “การเติบโต” ซึ่งต้องอาศัยการผ่อนคลายนโยบาย “การคลัง” โดยรัฐบาล คือ ลดภาษี เพิ่มการใช้จ่าย …ทว่าปัจจัยที่เปรียบเสมือนซุงท่อนเบ้อเร่อที่ขวางถนนอยู่คือ เยอรมนี “เศรษฐีใหญ่” ของกลุ่มยูโรโซน 19 ประเทศ ยังคงยืนกรานอย่างภาคภูมิใจในการดำเนินนโยบายการคลังแบบ “สมดุล” หรือ “เกินดุล” (รายจ่าย < รายได้) ของตนเอง “จุดเปลี่ยน” ของเศรษฐกิจยุโรปจึงขึ้นอยู่กับ เยอรมนี ว่าจะยอมจัดงบขาดดุลและใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่? ขณะที่โลกคงจดจำ มาริโอ ดรากี ในฐานะ “เสาหลัก” ผู้ค้ำยันเศรษฐกิจยูโรโซนตลอด 8 ปีของการดำรงตำแหน่งประธาน ECB ดังประโยคอมตะซึ่งเขาเคยพูดไว้ในปีแรกที่เข้ามาแบกรับภาระอันหนักอึ้งนี้
“Within our mandate, the ECB is ready to do whatever it takes to preserve the euro.” – Mario Draghi at the Global Investment Conference in London 26 July 2012
มุมมองกองทุนหุ้นยุโรป KTAM European Equity Fund (KT-EURO)
Brexit ยังไม่แน่นอน อิตาลีอาจสร้างแรงกระเพื่อมด้านนโยบายการคลัง ทว่าพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศยุโรปค่อยๆฟื้นตัว ค่าจ้างโตเร็วขึ้น เงินเฟ้อยังต่ำ แนวโน้มการบริโภคจึงดูสดใสกว่าภาคผลิต ขณะ ECB กำลังจะออกมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ KT-EURO เน้นหุ้นขนาดเล็กซึ่งมักพึ่งพาการบริโภคในประเทศ จึงมีโอกาสดีที่อาจจะ outperform ตลาดหุ้นยุโรปในภาพรวมได้