HoonSmart.com>>บลจ.บัวหลวง เผยกระแสตอบรับกองทุน SUPEREIF จากนักลงทุนคึกคัก IPO 22-26 และ 30-31 ก.ค.นี้ ลงทุนในสิทธิในการรับโอนรายได้สุทธิจากกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่สร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่แน่นอนและมั่นคง ท่ามกลางสภาวะแนวโน้มดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมาบลจ.บัวหลวง ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) พร้อมด้วยบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) ผู้สนับสนุน รวมทั้ง ธนาคารกรุงเทพ ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน จัดงานโรดโชว์เพื่อนำเสนอข้อมูลแก่ผู้สนใจในกองทุน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก
กองทุน SUPEREIF เสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO)ในวันที่ 22-26 และ 30-31 ก.ค. 2562 มูลค่าเงินลงทุนครั้งแรกไม่เกิน 8,150 ล้านบาท แบ่งเป็น การออกและเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 5,150 ล้านบาท (จากราคาเสนอขาย 10 บาท/หน่วยลงทุน ที่จำนวนหน่วยลงทุนไม่เกิน 515 ล้านหน่วย) และอีกไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เป็นการกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน
ด้าน SUPER ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กว่า 700 เมกะวัตต์ และเป็นบริษัทแม่ของผู้ขายทรัพย์สินกลับเข้ามาทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์อีกด้วย นอกจากนี้ SUPER ยังตกลงที่จะถือหน่วยลงทุนในกองทุนนี้ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 12 ปีแรก ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกชั้นหนึ่งด้วย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า รู้สึกมั่นใจกับกระแสตอบรับในการเสนอขาย IPO ของกองทุน SUPEREIF ในครั้งนี้ จากปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้นักลงทุนสนใจกองทุนนี้มาก น่าจะมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ประกอบกับกองทุน SUPEREIF จัดอยู่ในกลุ่มกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่เผชิญกับความผันผวนของตลาดค่อนข้างน้อย ขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดหวังในเรื่องความแน่นอนและความมั่นคงของรายได้อีกทางหนึ่ง
นายพีรพงศ์ กล่าวว่า การลงทุนใน SUPEREIF เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่มองหาสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ อีกทั้งความเสี่ยงไม่สูงมากเหมือนกับการลงทุนในหุ้นทั่วไป ดังนั้น นักลงทุนควรที่จะมี SUPEREIF อยู่ในพอร์ตลงทุนของตนเอง เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง เพราะธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานมีความเสี่ยงค่อนข้างน้อย และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“กองทุนนี้ออกมาสอดคล้องกับธีมลงทุนของกองทุนบัวหลวงในปีนี้ ที่ว่า รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กองแรกในประเทศไทย เรามองว่า SUPEREIF เป็นกองทุนที่น่าสนใจลงทุนในระยะยาว อีกทั้งสามารถลงทุนได้ตลอดทุกช่วงวัฎจักรเศรษฐกิจ (STAYING INVESTED THROUGH ALL MARKET CYCLES) ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตมากหรือน้อยเพียงใด ไฟฟ้าก็มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวัน อีกทั้งทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญกับการหันมาใช้พลังงานสะอาด จึงเป็นกิจการที่มีรายได้มั่นคง มีศักยภาพเติบโตได้”นายพีรพงศ์ กล่าว
ด้านนายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่ากองทุน SUPEREIF จะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนที่มองหาสินทรัพย์ทางเลือก โดยนักลงทุนมีโอกาสรับรายได้ที่สม่ำเสมอ มั่นคง เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้ง 19 โครงการ ที่บริษัทขายสิทธิในการรับโอนรายได้สุทธิให้กับกองทุน SUPEREIF มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ด้วยราคาคงที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ตลอดระยะเวลาสัญญาซื้อขายโดยมีอายุสัญญาเฉลี่ยคงเหลือประมาณ 21-22 ปี อีกทั้งกองทุนยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีก จากการที่บริษัทอาจพิจารณานำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอื่นๆ ขายเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต
“โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 19 โครงการ ที่กองทุน SUPEREIF จะเข้าลงทุนในรายได้สุทธินั้น มีกำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 6 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดที่บริษัทดูแลอยู่เท่านั้น ในอนาคตจึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะพิจารณานำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอื่นๆ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วขายให้กองทุนนี้เพิ่มเติมตามช่วงเวลาที่บริษัทมีแผนระดมทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม” นายจอมทรัพย์ กล่าว
ในปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 3,000-4,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทุกประเภท ทั้งนี้ ภาครัฐบาลตั้งเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเป็น 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้น พลังงานแสงอาทิตย์ย่อมมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคตเพราะเป็นพลังงานสะอาดที่ต้นทุนถูกที่สุด